วัดความดันช่วงไหนดี

วัดความดันช่วงไหนดีที่สุด?

ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องวัดความดันไว้กับตัวตลอดเวลา เพราะต้องวัดความดันของตนเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ปรับยาและอาหารได้อย่างถูกต้องโดยหลักการแล้ว ในช่วงแรกหรือเริ่มต้นใช้เครื่องวัดความดัน ควรวัดความดันทุก 2 ช.ม. เพื่อดูว่า ความดันขึ้นหรือลงในช่วงใดบ้างของชีวิตประจำวัน มีความสัมพันธ์กับยาลดความดัน อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์อย่างไรบ้าง

เมื่อวัดความดันได้แล้ว ก็ควรบันทึกข้อมูลของความดันโลหิต ความเร็วของชีพจร ยาที่รับประทานทั้งชนิด ขนาด จำนวนครั้ง รวมทั้งบันทึกย่อในเรื่องของอาหารและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น ๆ ไว้ด้วย หลังจากได้ข้อมูลพื้นฐานแล้ว จะทราบได้ด้วยตนเองว่า ยาออกฤทธิ์เมื่อใด มาก น้อย หรือนานเพียงใด สมควรที่จะต้องปรับยาหรือไม่ ? รวมทั้งมีผลข้างเคียงของยาอย่างไรบ้าง ?

เมื่อมีข้อมูลพื้นฐานของตนเองตามสมควรแล้ว ก็ควรวัดความดันวันละ 2-3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ช่วงเช้า เมื่อตื่นนอนตอนเช้าก็วัดเลย ซึ่งเป็นช่วงที่ยามักจะหมดฤทธิ์แล้ว และความดันก็มักจะขึ้นสูงในช่วงเวลานี้ ครั้งที่ 2 ช่วงบ่าย ประมาณบ่าย 2-4 โมง เป็นช่วงที่ความดันมักจะต่ำ เพราะยาลดความดันมักจะออกฤทธิ์เต็มที่ในช่วงเวลานี้ ครั้งที่ 3 ช่วงค่ำ ประมาณ 2 ทุ่ม ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ลดลง

ในยุคปัจจุบัน เรามักชอบที่จะใช้ยาแบบรับประทานวันละ 1 เม็ด ตอนเช้า เพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง. ข้อดีของยาแบบนี้ คือ รับประทานวันละ 1 ครั้ง แต่ข้อเสีย คือ มักจะควบคุมความดันได้ดีในช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงที่ยาออกฤทธิ์เต็มที่ ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยาแบบนี้แล้วพบว่า ความดันในช่วงเช้ามืดยังสูงเกินไป ก็ควรรายงานคุณหมอเจ้าของไข้ เพื่อพิจารณาปรับยาหรือเพิ่มยาในช่วงค่ำ จะได้ทำให้สามารถควบคุมความดันตอนใกล้สว่างและเช้ามืด

ยาลดความดันที่รับประทานตอนเช้าแล้วทำให้ความดันช่วงบ่ายพอดี ก็ถือว่า ยามื้อเช้ากำลังพอเหมาะสำหรับการควบคุมความดันตอนบ่าย

ถ้าพบว่า ความดันในช่วงบ่ายยังสูงเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น มีความแรงน้อยเกินไป สมควรพิจารณาเพิ่มยาหรือเสริมยาในมื้อเช้าของวันถัดไป

ถ้าพบว่า ความดันในช่วงบ่ายต่ำมากเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น มีความแรงมากเกินไป สมควรพิจารณาลดยาในมื้อเช้าของวันถัดไป

ถ้าพบว่า ความดันในช่วงค่ำสูงเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น หมดฤทธิ์ อาจจะเป็นผลให้ตอนกลางดึกและตอนเช้ามืดมีความดันสูง

โดยทั่วไปแล้ว ความดันมักชอบขึ้นตอนใกล้สว่างและเช้ามืด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยาหมดฤทธิ์ ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่รับประทานตั้งแต่เช้านั้น มักจะเริ่มหมดฤทธิ์ตั้งแต่ตอนค่ำแล้ว จึงเป็นผลให้บางคนมีปัญหาจากเส้นเลือดในสมองแตกตอนใกล้สว่างเนื่องจากความดันที่สูงเกินไป ดังนั้น คนที่รับประทานยาความดันชนิดวันละครั้งหรือชนิดออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง และรับประทานในช่วงเช้าแล้วมีความดันสูงเกินไปในช่วงค่ำเช่นนี้ สมควรพิจารณารับประทานยาเสริมตัวอื่นในช่วงค่ำหรือใช้ยาตัวเดิมแต่รับประทานทานเสริมอีกครั้งในช่วงค่ำ เพื่อจะได้ควบคุมความดันไว้ได้ทั้งคืนไปจนถึงเช้ามืด. การเสริมยาในช่วงค่ำเช่นนี้ เป็นการเสริมฤทธิ์ยาที่รับประทานในช่วงเช้า. ดังนั้น จึงต้องค่อย ๆ เสริมหรือเพิ่มยาที่ละน้อย ๆ. การรับประทานยาที่แรงหรือมากเกินไปอาจทำให้ความดันลดลงทั้งคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตราย เพราะอาจทำให้สมองขาดเลือด หรือเส้นเลือดในสมองเกิดการอุดตันได้. การจะเสริมยาลดความดันนั้น ควรปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่คุณหมอไม่ได้สั่งไว้ก่อน

ในช่วงค่ำ ถ้าพบว่า ความดันต่ำกว่าปรกติ ก็ควรลดหรืองดรับประทานยามื้อค่ำหรือก่อนนอน เพื่อป้องกันปัญหาดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว. ดังนั้น คนที่เป็นความดันสูงจึงควรวัดความดันในช่วงค่ำและเช้ามืดทุกวัน จนกว่าความดันจะเสถียรหรือคงที่อยู่ในระดับปรกติตามสมควร แล้วจึงค่อยวัดความดันทุก 1 ถึง 2 วันก็พอได้

ผู้ที่เริ่มรับประทานยามื้อค่ำหรือก่อนนอน ควรวัดความดันช่วงกลางดึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่มีการปรับหรือเสริมยา. กล่าวคือ ควรความวัดความดันในช่วงตี 3-5 ไว้บ้าง เพื่อจะได้รู้ว่า ความดันกลางดึกนั้น สูง ต่ำ หรือพอดี. ถ้าพอดีก็ไม่ต้องปรับยาอีก ถ้าไม่พอดีก็ควรปรับยามื้อค่ำตามหลักการที่ได้กล่าวถึงแล้ว. เมื่อปรับยาและความดันคงที่ตามสมควรแล้ว ก็ให้วัดความดันในช่วงเช้ามืดหรือตอนตื่นนอนก็ได้.

ควรระลึกไว้เสมอว่า หลังจากรับประทานยาลดความดันไประยะเวลาหนึ่งแล้ว ร่างกายอาจจะตอบสนองต่อฤทธิ์ของยามากหรือน้อยเกินไปก็ได้. ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท จึงควรวัดความดันในช่วงใกล้สว่างไว้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ จากหลอดเลือดแดงในสมองตันหรือแตก.

ทุกครั้งที่มีอาการผิดปรกติทางร่างกาย เช่น ปวดหัว วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น แน่นอก เจ็บอก อ่อนแรง หรือเจ็บป่วยด้วยเรื่องอะไรก็ตาม รวมทั้งทางจิตใจมีความกังวลหรือเครียด ควรวัดความดันในขณะนั้นทันที เพื่อจะได้ควบคุมความดันให้พอดีอยู่เสมอ

โดย น.พ.เอกชัย จุละจาริตต์