วิธีรับมือช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ไม่ให้ป่วยหนัก

สภาพอากาศช่วงนี้ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงบ่อยเป็นอย่างมาก เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดออก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ฉับพลันแบบนี้ส่งผลทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จนทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศควรเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากโพรงจมูกจะได้รับสิ่งแปลกปลอมและตอบสนองต่อกลิ่นได้ไวกว่าคนปกติทั่วไป หากไม่ป้องกันก็นำไปสู่การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้

อาการแพ้อากาศ

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคแพ้อากาศที่สามารถพบได้บ่อย คือ น้ำมูกไหล น้ำมูกมีสีใส เสียงขึ้นจมูก คัดจมูก ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการมากจะทำให้หายใจได้ยากลำบาก และมีเสมหะไหลลงคอ แต่จะไม่มีอาการเป็นไข้ร่วมด้วย ในบางครั้งอาจมีอาการคันตา ที่มักเป็น ๆ หาย ๆ และอาจเกิดขึ้นในช่วงเช้าและตอนกลางคืน นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ เจ็บใบหูด้านหลัง หูอื้อ อ่อนเพลียหลังตื่นนอน และมีอาการมึน โดยโรคแพ้อากาศยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไซนัสอักเสบ นอนกรน และหูชั้นกลางอักเสบได้อีกด้วย

วิธีรับมือกับอาการแพ้อากาศต้องทำอย่างไร

สำหรับวิธีรับมือและวิธีการรักษาเมื่อต้องเผชิญกับโรคแพ้อากาศ ควรเริ่มต้นสำรวจจากต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคแพ้อากาศ คือการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ นอกจากนี้ การเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อคำแนะนำก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้การรับมือเป็นไปอย่างถูกวิธี โดยวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคแพ้อากาศ มีดังนี้

วิธีป้องกันไม่ให้แพ้อากาศ

โรคแพ้อากาศ มีวิธีการป้องกันและการรักษาเพื่อให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้โรคแพ้อากาศหายขาด แต่ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยวิธีการป้องกันจะต้องเริ่มต้นจากการดูแลตัวเอง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดสารก่อภูมิแพ้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การเลือกรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน ผัก และผลไม้ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต่อโรคได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้
  • ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยเป็นประจำ การทำความสะอาดบ้าน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะห้องนอนให้สะอาด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงฝุ่นและสารระคายเคืองที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เปรียบเสมือนยาชั้นดีที่หลายคนอาจมองข้าม การนอนที่ดีและมีคุณภาพควรอยู่ที่ประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง ต่อวัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ร่างกายขาดการพักผ่อนที่ดีจะทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้ามาได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นและสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นควันรถ ควันธูป ควันบุหรี่ หรือน้ำหอม ล้วนเป็นสารระคายเคืองที่ทำให้โรคแพ้อากาศกำเริบ รวมไปถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง
  • ใช้ยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยโรคแพ้อากาศที่อยู่ในการดูแลของแพทย์ ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาใช้เองเพราะอาจส่งผลอันตรายต่อเยื่อโพรงจมูกได้

สรุปเรื่องโรคแพ้อากาศ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสภาพอากาศและมลพิษทางอากาศในบ้านเรา ณ ตอนนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้อากาศจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและใส่ใจการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานมากเป็นพิเศษ อย่างการเช็กอุณหภูมิร่างกายด้วยที่วัดไข้ดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และพร้อมรับมือกับทุกสภาพอากาศได้ตลอดเวลา