อันตราย จากการสูดดมมลพิษและฝุ่นละอองในอากาศ

อันตราย จากการสูดดมมลพิษและฝุ่นละอองในอากาศ

มลพิษและฝุ่นละอองในอากาศเกิดจากอะไร

ในปัจจุบันนี้เชื่อว่าหลาย ๆ คนพอที่จะเห็นข่าวสภาพอากาศของประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งในระดับมลพิษที่สูงขึ้น อย่างที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมา เช่น มลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศที่เพิ่มขึ้นมากทุกปี และดัชนีคุณภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลง ทำให้ผู้คนเริ่มมีความตื่นตัวและมีความกังวลอันตรายจากมลพิษในอากาศ เนื่องจากเราทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องสูดดมมลพิษและสูดฝุ่นละอองในอากาศอยู่ทุกวัน 


ในบทความนี้ สมาพันธ์ เฮลธ์ จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมลพิษ และฝุ่นละอองในอากาศว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด รวมไปถึงแนะแนวทางวิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากมลพิษได้อย่างไร?

มลพิษและฝุ่นละอองในอากาศเกิดจากอะไร

ข้อควรรู้ : ฝุ่นละอองที่สามารถเข้าไปยังระบบหายใจได้ แล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั่นก็คือ ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หากฝุ่นดังกล่าวเข้าไปยังระบบหายใจจะทำให้เกิดการระคายเคืองและเนื้อเยื่ออวัยวะนั้น ๆ โดนทำลาย หากสูดดมฝุ่นเข้าไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้อวัยวะในร่างกายเสื่อมลง เช่น ปอดเสื่อมลง และอาจทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้

ใครมีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสมลพิษและฝุ่นละออง

  • เด็กเล็ก: เนื่องจากปอดกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ร่างกายยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับฝุ่นละอองเยอะเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว แล้วรวม ทำให้เกิดความเป็นเป็นพิษต่อร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่
  • ผู้ที่ออกกำลังกายและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง: เช่น คนขับวินมอเตอร์ไซค์ คนขายพวงมาลัย คนงานก่อสร้าง เพราะจะหายใจเร็ว และมีการสูดฝุ่นเข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนมาก
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว: โดยเฉพาะโรคหืดเนื่องจากจะไวต่อการกระตุ้นของฝุ่น PM 2.5 หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ส่งผลทำให้สมรรถภาพปอดลดลง จนทำให้เกิดอาการกำเริบขึ้นมาได้ 
  • หญิงตั้งครรภ์: มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมลพิษและฝุ่นละออง จะทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้า พัฒนาการช้า ตัวเล็กผิดปกติไม่เป็นตามเกณฑ์ และอาจคลอดก่อนกำหนดได้
  • คนชรา: เนื่องจากมลพิษและฝุ่นละอองเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในวัยชราที่เพิ่มเป็น 1.5 เท่า รวมไปถึงในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจด้วย
  • ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ: ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคอื่น ๆ อาจมีอาการกำเริบได้จากการสูดดมฝุ่นในอากาศ

ผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อสุขภาพ

ผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อสุขภาพ

ในปัจจุบันนี้ปัญหาจากมลพิษและฝุ่นละอองมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก และปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมามีปริมาณเกินมาตรฐาน จนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย รวมไปถึงอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นหรือระยะยาว

ผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อสุขภาพในระยะสั้น

ผลร้ายจากฝุ่นละอองในช่วงระยะสั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพดังต่อไปนี้ 

  • เกิดอาการแพ้ขึ้นมาแบบฉับพลัน
  • ก่อให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ และทำให้มีโอกาสเกิดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้
  • ทำให้เกิดโรคที่พบบ่อยคือ โรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ไอ โรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเยื่อบุตาอักเสบ เป็นต้น

ผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อสุขภาพในระยะยาว

ผลร้ายจากฝุ่นละอองที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงระยะยาว มีดังต่อไปนี้ 

  • ฝุ่นที่มีขนาดเล็ก สามารถเข้าไปในถุงลมจนถึงหลอดเลือดแดงได้ และเข้าไปถึงเส้นเลือดฝอยต่อไปส่งผลต่อร่างกาย คือ เกิดการอักเสบในเส้นเลือดได้จนถึงขั้นรุนแรง 
  • ทำให้เกิดโรคที่พบบ่อย คือ โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอด รวมไปถึงเพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้อีกด้วย

ฝุ่น pm 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยมีอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายดังต่อไปนี้

  • ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและปอด: ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษในอากาศจะอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและปอดอย่างมาก เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นละอองเล็กมาก สามารถเข้าไปในระบบหายใจได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดอาการกำเริบได้ และสะสมเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดตามมาได้
  • ส่งผลต่อหัวใจ: ทำให้เกิดการตกตะกอนภายในหลอดเลือด อันตรายถึงขั้นหัวใจวายได้ เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ และมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ รวมไปถึงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • ส่งผลต่อสมอง: ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าไปในกระแสเลือดจนเกิดการสะสมขึ้น ทำให้เลือดหนืด เกิดโรคความดันโลหิตสูง เกิดลิ่มเลือดในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ และเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาตได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

วิธีดูแลป้องกันตัวเองจากมลพิษและฝุ่นละออง

วิธีดูแลป้องกันตัวเองจากมลพิษและฝุ่นละออง
  • เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง: ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และวิตามินซีเพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยต่อต้านอนุมูนอิสระจากฝุ่นละอองที่จะมาทำร้ายร่างกาย และช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้
  • สวมหน้ากากอนามัย: เมื่อออกนอกบ้านหรือเดินทางไปสถานที่ที่มีมลพิษและฝุ่นละอองเยอะ ควรใส่หน้ากากอนามัยปิดจมูกที่สามารถกรองอนุภาคฝุ่นได้สูง เช่น หน้ากาก N95
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน: หากช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง ควรงดการทำกิจกรรมนอกบ้านในช่วงนั้นออกไปก่อน โดยเฉพาะตอนออกกำลังกายกลางแจ้ง เนื่องจากจะมีการสูดดมเอาฝุ่นละอองเข้าไปในระบบทางเดินหายใจและปอดในระดับที่สูงกว่าการหายใจปกติ
  • งดการสูบบุหรี่: การมีพฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้ระบบทางเดินหายใจแย่ลง จนก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาได้ในที่สุด
  • งดการสร้างฝุ่นควัน: เช่น การเผาขยะ เผาใบไม้ จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและสร้างฝุ่นควันขึ้นมาได้ ควันจะลอยเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดได้สูง
  • ปิดหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงค่าฝุ่นสูง : เมื่อเช็กสภาพอากาศแล้วพบว่ามีค่าฝุ่นสูง ควรอยู่ในบ้าน ปิดหน้าต่างให้มิดชิด หากมีเครื่องฟอกอากาศควรเปิดเพื่อกรองฝุ่นละออง
  • โหลดแอปพลิเคชัน : ในยุคสมัยนี้มีแอปที่เอาไว้เช็กคุณภาพอากาศแล้ว สามารถเช็กก่อนออกจากบ้านได้ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

สรุปบทความ

มลพิษและฝุ่นละอองในอากาศล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด ซึ่งฝุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น ฝุ่นผง ขี้เถ้า เขม่าควัน ทั้งเกิดจากแหล่งธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ปัญหาฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสุขภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ต้องมีวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันให้ห่างไกลจากมลพิษและฝุ่นให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว