การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการตรวจสุขภาพเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อโรคและภาวะต่าง ๆ ที่อาจยังไม่แสดงอาการ เพราะถ้าหากตรวจพบถึงปัญหาตั้งแต่ตอนนี้ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ รวมถึงลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนต่อโรคต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้ การตรวจสุขภาพประจำปีจะต้องตรวจอะไรบ้าง ตามไปหาคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้
การตรวจสุขภาพประจำปีขั้นพื้นฐาน มีการตรวจดังนี้
การตรวจสุขภาพประจำปีขั้นพื้นฐาน เป็นการตรวจตั้งแต่ร่างกาย อวัยวะสำคัญต่าง ๆ รวมไปถึงการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะประกอบไปด้วยรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่การตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือการตรวจแบบ Comprehensive มีดังนี้
ตรวจร่างกายทั่วไป
แพทย์จะทำการสอบถามประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงประวัติการใช้ยาและพฤติกรรมต่าง ๆ ร่วมกับการตรวจเบื้องต้น เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกโรคได้ในระดับหนึ่ง
ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
การตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด การประเมินความเข้มข้นของเลือด เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด
การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม เพื่อประเมินความเสี่ยงและสามารถคัดกรองโรคเบาหวานได้
ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด
เป็นการตรวจดูระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดีและชนิดที่ไม่ดี เพื่อประเมินดูความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
ตรวจการทำงานของไต
เป็นการตรวจดูค่าครีเอตินิน ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อและค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ค่าของเสียจากการย่อยสลายของโปรตีน เพื่อนำมาประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต
ตรวจการทำงานของตับ
เป็นการตรวจดูความผิดปกติของตับและทางเดินน้ำดี ซึ่งตรวจหาเอนไซม์และสารต่าง ๆ ภายในเลือดเพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ และภาวะดีซ่าน
ตรวจไวรัสตับอักเสบ
การตรวจไวรัสตับอักเสบบีสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นและตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ รวมทั้งยังสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจ Anti-HCV
ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง
เป็นการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งตับในผู้ชายและผู้หญิง มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย
ตรวจปัสสาวะ
การตรวจปัสสาวะเป็นการช่วยวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะและโรคต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
ตรวจอุจจาระ
การตรวจอุจจาระเป็นการช่วยวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น เช่น ภาวะการอักเสบติดเชื้อในลำไส้ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาภาวะเลือดปนในอุจจาระที่อาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารได้
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการประเมินการทำงานของหัวใจ เพื่อดูความผิดปกติบางอย่าง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เอกซเรย์ปอด
เป็นการตรวจดูความผิดปกติในบริเวณทรวงอก เพื่อหาดูความผิดปกติของหัวใจ และตรวจดูโรคต่าง ๆ ของปอด
ตรวจช่องท้อง
การตรวจช่องท้องด้วยการอัลตราซาวน์ เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องท้อง เช่น เส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง ตับ ไต ม้าม และรังไข่ในผู้หญิง รวมถึงต่อมลูกหมากในผู้ชาย
ตรวจวัดความสามารถการมองเห็น
เป็นการตรวจวัดความผิดปกติของสายตา ทั้งเรื่องการมองเห็นและตรวจสุขภาพตาทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาความเสี่ยงต่อภาวะต้อหินและต้อกระจกได้อีกด้วย
สรุปเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปี
โดยปกติแล้วการตรวจสุขภาพประจำปีจะสามารถพบแพทย์ได้แค่เพียงปีละหนึ่งครั้ง แต่การตรวจสุขภาพด้วยตัวเองสามารถทำได้ทุกวัน เริ่มต้นจากการสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่ามีการกินเป็นอย่างไร น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ การพักผ่อนมากเพียงพอหรือเปล่า หรือเจ็บป่วยบ่อยไหม ซึ่งการตรวจเช็กสุขภาพเบื้องต้นสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านด้วยเครื่องวัดความดัน และ เครื่องวัดออกซิเจน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินสุขภาพเบื้องต้นด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกสบาย