หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “คีโต” และประโยคที่ว่า “ลดน้ำหนักก็กินคีโตสิ” กันมาบ้างแล้ว การกินคีโต คือการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โปรตีนปานกลาง และคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก ซึ่งจะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิส (Ketosis) โดยใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนน้ำตาล นอกจากการลดน้ำหนักแล้ว ยังมีการกล่าวอ้างว่าการกินคีโตสามารถช่วยรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ได้อีกด้วย เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับคีโตให้มากขึ้น รวมถึงพิจารณาว่าผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินคีโตได้หรือไม่ และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง ในบทความนี้กัน
คีโต คืออะไร?
คีโต หรือการรับประทานอาหารแบบคีโตเจนิก (Ketogenic Diet) เป็นรูปแบบการรับประทานอาหารที่เน้นไขมันสูง โปรตีนปานกลาง และคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก โดยทั่วไปแล้ว สัดส่วนของสารอาหารในอาหารคีโตจะประกอบด้วยไขมัน 70-75% โปรตีน 20-25% และคาร์โบไฮเดรตเพียง 5-10% ของแคลอรีทั้งหมด
วัตถุประสงค์หลักของการกินคีโต คือการกระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิส (Ketosis) ซึ่งเป็นกระบวนการเผาผลาญไขมันเพื่อสร้างพลังงานแทนการใช้น้ำตาลหรือกลูโคส เมื่อร่างกายขาดคาร์โบไฮเดรต ตับจะเปลี่ยนไขมันให้เป็นคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนได้
ทั้งนี้ การกินคีโตก็มีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การกินคีโตอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเริ่มโปรแกรมอาหารใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
การกินคีโต มีกี่ประเภท
วิธีการกินคีโตไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว แต่สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันในแง่ของสัดส่วนสารอาหารและระยะเวลาในการปฏิบัติ ดังนี้
1. Standard ketogenic diet (SKD)
Standard ketogenic diet หรือ SKD เป็นการกินคีโตที่พบเห็นและใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ลักษณะสำคัญของ SKD คือการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมาก โปรตีนปานกลาง และคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก โดยทั่วไปแล้ว สัดส่วนของสารอาหารใน SKD จะประกอบด้วย
- ไขมัน 70-75% ของแคลอรีทั้งหมด
- โปรตีน 20-25% ของแคลอรีทั้งหมด
- คาร์โบไฮเดรต 5-10% ของแคลอรีทั้งหมด (โดยทั่วไปไม่เกิน 50 กรัมต่อวัน)
การกินคีโตแบบ SKD เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการรับประทานอาหารแบบนี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิส และรักษาระดับการเผาผลาญนั้นไว้ได้
2. Cyclical ketogenic diet (CKD)
Cyclical ketogenic diet หรือ CKD เป็นการกินคีโตที่มีการสลับระหว่างช่วงของการรับประทานอาหารแบบคีโตเจนิกกับช่วงที่รับประทานคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้น โดยทั่วไปแล้ว CKD จะมีลักษณะ ดังนี้ 1 สัปดาห์มี 7 วัน 5 วันจะเป็นการกินคีโตแบบ SKD และอีก 2 วัน จะรับประทานอาหารแบบ carb-loading กล่าวคือจะเพิ่มสัดส่วนในรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น
วิธีการกินคีโตแบบ CKD เป็นที่นิยมในหมู่นักกีฬาและนักเพาะกาย เนื่องจากช่วงที่รับประทานคาร์โบไฮเดรตสูงจะช่วยเพิ่มพลังงานและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามก็มีข้อควรระวังในการทำ CKD เช่นกัน โดยต้องอาศัยความเข้าใจและการวางแผนที่ดี เพราะการสลับไปมาระหว่างภาวะคีโตซิสและไม่คีโตซิสอาจส่งผลต่อร่างกายได้
3. Targeted ketogenic diet (TKD)
Targeted ketogenic diet หรือ TKD เป็นรูปแบบการกินคีโตที่สามารถเพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรตในช่วงเวลาที่กำหนดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่จะเป็นการกินคีโตตามปกติ แต่สามารถกินคาร์โบไฮเดรต 15-50 กรัม ก่อนหรือหลังการออกกำลังกาย
ทั้งนี้คีโตแบบ TKD เหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และต้องการพลังงาน การเพิ่มคาร์โบไฮเดรตในช่วงสั้น ๆ นี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกายโดยไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการเผาผลาญไขมันในระยะยาวอีกด้วย
4. High protein ketogenic diet (HPKD)
High protein ketogenic diet หรือ HPKD เป็นรูปแบบการกินคีโตที่มีการเพิ่มสัดส่วนของโปรตีนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการกินคีโตแบบ SKD แล้ว สัดส่วนของสารอาหารใน HPKD จะประกอบด้วย
- ไขมัน 60-65% ของแคลอรีทั้งหมด
- โปรตีน 30-35% ของแคลอรีทั้งหมด
- คาร์โบไฮเดรต 5% ของแคลอรีทั้งหมด
ดังงนั้นการวิธีการกินคีโตแบบ HPKD จึงทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษามวลกล้ามเนื้อในขณะที่ลดน้ำหนัก หรือสำหรับนักกีฬาที่ต้องการโปรตีนเพิ่มเติมเพื่อการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ การรับประทานโปรตีนในปริมาณสูงอาจทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิสได้ยากขึ้น เนื่องจากร่างกายสามารถเปลี่ยนโปรตีนบางส่วนเป็นน้ำตาลได้ผ่านกระบวนการ Gluconeogenesis และส่งผลต่อการดึงพลังงานมาใช้ได้
อย่างไรก็ตาม แต่ละรูปแบบของการกินคีโตมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน การเลือกกินคีโตในรูปแบบที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ไลฟ์สไตล์และสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเริ่มการกินคีโต เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุด
ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินคีโตได้ไหม?
คำถามที่ว่าผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินคีโตได้หรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ในความเป็นจริง คำตอบคือไม่สามารถตอบแบบชัดเจนว่าได้หรือไม่ได้ เพราะหลัก ๆ แล้วจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายประเภทของเบาหวาน ความรุนแรงของโรคและการดูแลรักษาในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานที่อยากรับกินคีโต เพื่อรักษาโรคเบาหวาน ต้องพิจารณาจากความรุนแรงของโรค โดยการกินคีโตจะเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 มากกว่า เนื่องจากอาหารของผู้ป่วยเบาหวานต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และลดการกินหวาน ลดโซเดียม เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาหารคีโตมีคาร์โบไฮเดรตที่ต่ำ จึงช่วยลดความต้องการอินซูลิน และอาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้
ข้อควรระวังในการกินคีโตสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ตามที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นเบาหวานระดับที่ 1 การรับประทานอาหารแบบคีโตอาจมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เอง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็วอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ภาวะคีโตซิสในผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 อาจนำไปสู่ภาวะ Diabetic Ketoacidosis (DKA) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้น ก่อนที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเริ่มการรับประทานอาหารแบบคีโต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อประเมินถึงความเหมาะสมและความเสี่ยง รวมถึงวางแผนการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอด้วย เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สรุป
การกินคีโต คือรูปแบบการรับประทานอาหารที่เน้นไขมันสูง โปรตีนปานกลาง และคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิส ซึ่งใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนน้ำตาล วิธีการกินคีโตมีหลายรูปแบบ ได้แก่ Standard ketogenic diet (SKD), Cyclical ketogenic diet (CKD), Targeted ketogenic diet (TKD), และ High protein ketogenic diet (HPKD) แต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การกินคีโตอาจมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 อาจได้รับประโยชน์ในแง่ของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 1 อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ก่อนเริ่มการกินคีโต ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินความเหมาะสม ในท้ายที่สุด การตัดสินใจว่าจะกินคีโตหรือไม่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและทีมแพทย์ผู้ดูแล โดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย เป้าหมายการรักษา และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นรายบุคคล