เช็คสัญญาณอันตรายลูกน้อย จากอาการไข้

เช็คสัญญาณอันตรายลูกน้อย จากอาการไข้

ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยสำหรับเด็กวัย 3 เดือน-2 ปีเป็นวัยที่มี ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะหากมีคนในบ้านป่วยหรือ ไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยและอาการสำคัญที่จะพบบ่อยคืออาการ “ไข้” ที่อาจเป็น สัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการหรือโรคติดเชื้อที่เด็กอาจจะเป็นได้ทั้งไข้สูง-ไข้ต่ำ

 

อาการไข้คืออะไร

ไข้ คือการที่อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ถือว่าเป็นไข้สูง ซึ่งอาจทำให้เด็กเล็กเกิด อาการชักได้ ส่วนอุณหภูมิระหว่าง 37.5-38.5 องศาเซลเซียสถือว่าเป็น ไข้ต่ำ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้เพื่อประเมินความรุนแรงของไข้ ไม่ว่าจะเป็นการวัดอุณหภูมิทางช่องหู การวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก ฯลฯ และใช้ในการติดตามอาการ โดยไม่ควรใช้เพียงมือสัมผัสเพื่อวัดอุณหภูมิ เพราะจะให้ค่าที่ไม่แม่นยำ หากวัดอุณหภูมิแล้วเด็กมีอาการไข้หรือมีไข้สูงเป็นบางเวลาโดยเฉพาะตอนกลางคืน มักเกิดจากโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรง

 

อาการอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดไข้

นอกจากอาการไข้แล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่ควรนำมาใช้พิจารณาว่าเด็กป่วยรุนแรงจากไข้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นอาการซึม งอแง กินได้น้อยลง โดยเฉพาะ หากดื่มน้ำได้ไม่เพียงพออย่างไรก็ตามเวลาเด็กมีไข้สูงอาจดูซึมหรือร้องกวนได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเช็ดตัวลดไข้หรือให้กินยาลดไข้ซึ่งเมื่อไข้ลดลง และเด็กกลับมาดูร่าเริงดูสบายขึ้นมักช่วยสนับสนุนว่าอาการป่วยของเด็กไม่รุนแรง ทั้งการวัดไข้ในปัจจุบันมีเทอร์โมมิเตอร์ที่ตอบสนองทั้งการวัดไข้ทางหู วัดไข้ทางหน้าผาก โดยใช้แสงอินฟาเรดเพื่ออ่านค่า สามารถวัดไข้ขณะที่ลูกนอนหลับโดยไม่ทำให้ตื่นได้ ไข้ในเด็กเล็กส่วนใหญ่นั้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งอาการมักหายไปได้เองและไม่ค่อยมีอันตรายร้ายแรง นอกจากอาการชักเนื่องจากไข้สูง เชื้อไวรัสแต่ละตัว ก็มีอาการให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตควบคู่กับอาการไข้ เพื่อการตัดสินใจในการดูแลลกน้อยต่อไปได้

 

โรคที่ทำให้เกิดไข้

♦ โรคส่าไข้ ทำให้เด็กมีผื่นที่ผิวหนังตามมาเมื่อไข้ลดลง

♦ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ทำให้เด็กมีอาการหวัดร่วมด้วย และอาจทำให้เกิดอาการไอและหายใจหอบตามมา

♦ เชื้อไวรัสเดงกี ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกทำให้เด็กมีอาการ อาเจียนและมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง

♦ เชื้อไวรัสโรต้า ทำให้เด็กเกิดอาการอาเจียน และถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วย

นอกจากนั้นอาการไข้ยังมาจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกันแม้จะพบ ได้ไม่บ่อยเท่ากับโรคติดเชื้อไวรัสแต่มักทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่า และต้องการการรักษาด้วย ยาต้านจุลชีพ (หรือที่บางคนเรียกว่ายาแก้ อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อ) โรคในกลุ่มนี้ได้แก่

♦ โรคหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งเด็กจะมีอาการร้องกวนจากอาการเจ็บหู

♦ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ซึ่งเด็กมักมีอาการไข้สูงอย่างเดียว โดยอาจวินิจฉัยโรคไม่ได้หากไม่ได้ส่งตรวจปัสสาวะ

♦ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเด็กจะมีอาการซึมร่วมด้วยและอาจมีอาการชักครับ

 

ลูกเล็กมีไข้จัดการอย่างไร

เด็กเล็กวัย 5 ขวบปีแรกที่มีไข้สูงโดยเฉพาะหากเป็นไข้ในวันแรกหรือวันที่สองมีความเสี่ยงต่ออาการชักเนื่องจากไข้สูงได้คุณพ่อคุณแม่จึงต้องช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายโดยการเช็ดตัวลดไข้และให้กินยาลดไข้แต่การเช็ดตัว ลดไข้สามารถทำให้ไข้ลดลงได้เร็วกว่าการใช้ยาลดไข้ซึ่งมักต้องใช้เวลานาน ½ -1 ชั่วโมงกว่าจะออกฤทธิ์ หากเด็กมีไข้สูงไม่ควรให้ยาลดไข้อย่างเดียว ต้องเช็ดตัวลดไข้ควบคู่ไปด้วยเสมอ การเช็ดตัวลดไข้ควรถอดเสื้อผ้าของเด็กออกใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณซอกคอ ซอกรักแร้ ขาหนีบ หน้าอกและหลังอย่าลืมวัดไข้ก่อนและหลังเช็ดตัวทุกครั้ง ซึ่งหลังเช็ดตัวแล้วอุณหภูมิร่างกายจะลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส และควรเช็ดตัวซ้ำอีกหากวัดอุณหภูมิแล้วยังสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ยาลดไข้สำหรับเด็กสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือนต้องระมัดระวังในการ ใช้ยาลดไข้เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้ควรใช้การเช็ดตัวลดไข้เป็นหลัก และให้ยาลดไข้ พาราเซตามอลถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงในเด็ก มีให้เลือกไข้ 3 ชนิด คือ ชนิดหยดสำหรับเด็กเล็ก ๆ และเด็กที่กินยายาก (ขนาด 1 ช้อนชา หรือ 5 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 10 กก.) และชนิดน้ำเชื่อม สำหรับเด็กโต (ขนาด 1 ช้อนชาต่อน้ำหนักตัว 20 กก.) แนะนำให้ใช้ทุก 4-6 ชั่วโมงเวลามีไข้