แผลกดทับคืออะไร?

แผลกดทับคืออะไร?

แผลกดทับก็คือบริเวณที่มีการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อจากการขาดเลือด อันเป็นผลจาการถูกกดทับเป็นเวลานานๆ แผลกดทับมักจะเกิดบริเวณ เนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูก เช่น บริเวณกระดูกก้นกบ กระดูกสะโพกตาตุ่ม ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับ

1. การกดทับ โดยมีข้อสังเกตุดังนี้

1.1 บริเวณที่มีกล้ามเนื้อมากจะทนต่อแรงกดทับได้ดี

1.2 มีรายงานว่าแรงกดประมาณ 70 มม.ปรอทกดทับเป็นเวลา 1 – 2   ชั่วโมง ติดต่อกันจะทำให้เกิดการขาดเลือดขึ้น

1.3 แรงกดจำนวนมากแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำให้เกิดอันตราย ต่อเนื้อเยื่อได้เท่ากับแรงกดน้อยๆแต่ระยะเวลานาน

1.4 แผลกดทับมักพบในผู้ป่วยอัมพาตแบบ flaccid มากกว่าอัมพาต แบบ spastic

2. แรงไถและความเสียดทาน ซึ่งจะทำให้เกิดการปริแตกของเนื้อเยื่อได้ง่าย และมักจะพบในผู้ป่วยอัมพาตที่นั่งรถเข็นโดยเฉพาะเวลามีการเคลื่อนตัว บนรถเข็น

3. อุณหภูมิ ผลของการเพิ่มอุณหภูมิจะทำให้มีการเพิ่มของเมตาบอลิสซึม ของเซลล์ ส่งเสริมให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและตายได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้แผลกดทับรุนแรงยิ่งขึ้น

4. ความมีอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นหมายความว่า ร่างกายของเราจะฟื้นตันได้ช้าลง จึงเพิ่มความรุนแรงของแผลกดทับ

5. ภาวะทางโภชนาการ การขาดโปรตีนจะทำให้การเสริมสร้างเนื้อเยื่อ ช้าลง ส่งผลให้แผลหายช้า พบว่าผู้ป่วยที่มีแผลควรได้รับโปรตีน 80 – 100 กรัม/วัน นอกจากนี้ภาวะความไม่สมดุลของไนโตรเจน แคลเซียม การขาดวิตามิน เหล่านี้ทำให้แผลหายช้าลง

6. การบวมน้ำ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางการส่งผ่านอาหารและออกซิเจนจากเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเซลล์ทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้นและหายช้าลงด้วย

7. ภาวะความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เพราะการที่ต่อมไร้ท่อผิดปกติทำงานผิดปกติ หมายถึงสุขภาพโดยรวมของร่างกายจะแย่ลงด้วย

8. ปัจจัยอื่นๆ เช่นความชื้นจากเหงื่อ อุจจาระ ภาวะติดเชื้อเป็นต้น

 

แผลกดทับแบ่งออกเป็น 4 ระดับ

ระดับที่ 1 เป็นรอยแดงของผิวหนัง

ระดับที่ 2 ผิวหนังกำพร้าถูกทำลายหรือฉีกขาด [Patial thickness] หรือมีการทำลายชั้นผิวหนังแท้เป็นแผลตื้นๆ

ระดับ ที่ 3 มีการทำลายชั้นผิวหนังลึกลงไป แต่ไม่ถึงพังผืดหรือเอ็นยึดกล้ามเนื้อ เกิดเป็นแผลลึกแต่ไม่เป็นโพรง [ Full Thickness Skin Loss ]

ระดับที่ 4 มีการทำลายผิวหนังลึกลงไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ กระดูกหรือโครงสร้างของร่างกาย

 

การป้องกันแผลกดทับ

1. ดูแลพลิกตะแคงตัวเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง โดยจัดให้ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนหงาย นอนคว่ำกึ่งตะแคง สลับกันไป ตามความเหมาะสมควรใช้หมอนหรือผ้านุ่มๆรองบริเวณที่กดทับหรือ ปุ่มกระดูกยื่น เพื่อ ป้องกันการเสียดสีและลดแรงกดทับ

2. ควรใช้ที่นอนที่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ที่นอนลม ที่นอนน้ำ ที่นอนฟองน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอนที่การระบายอากาศ ไม่ดี เช่น ที่นอน หุ้มพลาสติก

3. ดูแลผิวหนังผู้ป่วยให้สะอาด แห้ง ไม่อับชื้น เพราะถ้าผิวหนังเปียกชื้นหรือร้อนจะทำให้เกิดแผลเปื่อย ผิวหนังถลอก และหากสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีผิวหนังแห้งแตกเป็นขุยควรดูแลทาครีม หรือโลชั่นทาผิวหนังที่ฉายรังสี

4. ดูแลให้ผู้ป่วยออกกำลังกายตามความเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อ หลอดเลือดและผิวหนังแข็งแรง มีการไหลเวียนของโลหิตดี

5. ดูแลให้อาหารผู้ป่วยอย่างเพียงพอ คุณค่าทางโภชนาการครบโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนจำเป็นอย่างมากต่อผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ นอกจากนี้ต้องดูแลให้วิตามิน ธาตุเหล็ก และน้ำอย่างสมดุลย์ด้วย