การนอนติดเตียง เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้สูงอายุและ ผู้ป่วยติดเตียง ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มีสุขภาพทรุดโทรมจนทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ซึ่งผู้ป่วยอาจสามารถทำการเคลื่อนไหวได้เพียงเล็กน้อย หรือบางกรณีไม่อาจเคลื่อนไหวขยับร่างกายได้เลย จึงทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการลักษณะนี้จะต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
อาการ นอนติดเตียง คืออะไร
ผู้ป่วยติดเตียง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถที่จะทำการช่วยเหลือตัวเองได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีทั้งที่ขยับร่างกายได้บ้างหรือไม่สามารถขยับร่างกายได้เลยจะขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น โดยผู้ป่วยติดเตียงนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน ดังนี้
- ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มสีเขียว เป็นระดับแรกจัดว่าไม่มีความเสี่ยงมากนัก สามารถที่จะทำการช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง
- ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มสีเหลือง เป็นระดับที่สองโดยผู้ป่วยระดับนี้มักมาจากอาการอัมพฤกษ์ที่ทำให้ต้องนอนติดเตียงเป็นระยะเวลานาน
- ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มสีแดง เป็นระดับที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด
5 เรื่องควรระวังของผู้ป่วยติดเตียง
หากคุณต้องดูแล ผู้ป่วยติดเตียง หรือมีผู้สูงอายุ นอนติดเตียง อยู่ภายใต้การดูแล 5 สิ่งนี้ คือ เรื่องที่ควรระวังเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยจะต้องนอนติดเตียงอยู่เป็นระยะเวลานาน
1. แผลกดทับ
เมื่อผู้ป่วยมีการนอนติดเตียง เป็นระยะเวลานาน จะทำให้บริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ ขาดเลือดที่จะมาเลี้ยงผิวหนัง จนทำให้เซลล์บางตัวอาจตายจนเกิดเป็นแผลไปเรื่อยๆ โดยแผลกดทับนั้นสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยกันหลายจุด อาทิเช่น สะบัก, ท้ายทอย, ศอก, สะโพก, กระดูกก้นกบ, ส้นเท้า เป็นต้น และเมื่อปล่อยไว้นานวันเข้า อาจทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. ความสะอาด
การชำระล้างร่างกายและการขับถ่ายเป็นสิ่งที่ผู้ดูแลจะต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในร่างกาย ควรได้รับการเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะทุกๆ 2-4 สัปดาห์ และจะต้องทำความสะอาดด้วยสบู่อ่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
3. ภาวะสุขภาพจิตย่ำแย่
ผู้ป่วยติดเตียงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถเกิดภาวะสุขภาพจิตย่ำแย่ได้ง่ายมาก เนื่องจากไม่สามารถที่จะขยับร่างกายหรือลุกขึ้นไปทำอะไรด้วยตัวเองได้ การนอนอยู่บนเตียงเฉยๆ จะทำให้ความเบื่อหน่าย ความเศร้า และความทุกข์เกิดขึ้นได้ง่ายมาก
4. ภาวะกลืนลำบาก
ภาวะกลืนลำบาก มีสาเหตุเกิดขึ้นจากความผิดปกติของทางช่องปากและคอหอย ทำให้เสี่ยงต่อการสำลักในขณะที่รับประทานอาหาร หรืออาจมีเศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลมจนทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ และที่แย่ไปกว่านั้น คือ อาจเกิดเศษอาหารชิ้นใหญ่เข้าไปอุดหลอดลม
5. กล้ามเนื้อฝ่อ
เมื่อผู้ป่วยติดเตียงทำการเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดข้อติดและกล้ามเนื้อฝ่อลีบ เนื่องจากไม่ได้มีการขยับใช้ร่างกาย
ต้องรับมืออาการเหล่านี้ของผู้ป่วยติดเตียงอย่างไร
สำหรับผู้ที่ต้องดูแล ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ นอนติดเตียง สามารถที่จะรับมือกับอาการเหล่านี้ได้ด้วยการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- ในกรณีที่ต้องการจะป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ แนะนำเลือกใช้ ที่นอนลมกันแผลกดทับ ที่มีการออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์การใช้งานที่ตรงจุด
- การดูแลในเรื่องของความสะอาดนั้น ควรที่จะต้องดูแลทั้งในเรื่องของการชำระล้างร่างกายและการขับถ่าย ดูแลสุขภาพในช่องปากเพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และดูแลความสะอาดของห้องนอน ให้มีอากาศถ่ายเท และมีการจัดให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
- หากิจกรรมต่างๆ มาให้ผู้ป่วยได้ลดความเบื่อหน่ายและลดความเศร้า
- เพื่อป้องกันภาวะกลืนลำบาก แนะนำให้ทำการปรับเตียง 45-90 องศา จับผู้ป่วยลุกนั่งบนเตียง โดยอาจใช้หมอนเพื่อนำเอามาดันหลังช่วยในการทรงตัว และจะต้องปรับอาหารให้มีความเหมาะสม
- ให้ผู้ป่วยทำกายภาพทุกวัน เช้า-เย็น เพื่อป้องกันการเกิดข้อติดและกล้ามเนื้อฝ่อลีบที่อาจเกิดขึ้น
สรุปบทความ
จริงอยู่ที่ว่าการดูแล ผู้ป่วยติดเตียง ถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากสามารถที่จะเข้าใจถึงวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้อง และมีการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแล้ว จะสามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและอาจสร้างความหนักใจให้แก่ผู้ดูแล และสุดท้ายนี้ทาง บริษัท สมาพันธ์ เฮลธ์ จำกัด ของเรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยให้การดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง เป็นเรื่องที่ง่ายมากยิ่งขึ้น