โรคหลอดเลือดสมอง หรือเส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากอะไร

โรคหลอดเลือดสมอง หรือเส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากอะไร

ภัยเงียบจากโรคร้ายที่ไม่ว่าใครก็ต่างหวาดกลัว โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ส่วนใหญ่มักพบในวัยผู้ใหญ่ตอนปลายและวัยผู้สูงอายุ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งโรคประจำตัวและพฤติกรรมการใช้ชีวิต วันนี้ SAMH จะมาบอกต่อวิธีสังเกตอาการแรกเริ่มและแนวทางป้องกันอาการเส้นเลือดในสมองแตกที่ถูกต้อง

เส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากอะไร

โรคหลอดเลือดสมองหรืออาการเส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตกอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ออกซิเจนไม่สามารถเดินทางไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ไม่เพียงพอ ทำให้สมองอยู่ในภาวะขาดเลือด เซลล์สมองค่อย ๆ ถูกทำลายจนร่างกายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และอาจนำไปสู่ความอันตรายถึงชีวิต

เส้นเลือดในสมองแตก อาการเริ่มแรกเป็นอย่างไร

ถึงแม้อาการเส้นเลือดในสมองแตกจะมีความรุนแรง ทำให้ระบบการทำงานภายในร่างกายติดขัด แต่ยังมีทางรักษาหากสังเกตเห็นอาการแรกเริ่มเร็ว และนำตัวส่งโรงพยาบาลทันเวลา ก็จะสามารถรักษาชีวิตไว้ได้

 1. ตาพร่ามัว

ผู้ที่อยู่ในภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ประสิทธิภาพในการมองเห็นจะลดลงทันที อาการที่พบบ่อย เช่น ตาพร่ามัวกะทันหัน ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือตาทั้งสองข้างมองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน หรือมองเห็นภาพบิดเบี้ยว

2. ทรงตัวไม่ได้

กรณีเส้นเลือดในสมองแตกบริเวณตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับระบบทรงตัวหรือระบบกล้ามเนื้อ จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เช่น เดินเซไปมา ลุกขึ้นจากเตียงลำบาก นั่งหรือยืนตรง ๆ ไม่ได้

3. ปากเบี้ยว

นับว่าเป็นอาการแรกเริ่มที่สังเกตง่ายที่สุด หลังจากเส้นเลือดในสมองแตกบริเวณตำแหน่งควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า รูปหน้าจะเบี้ยว ปากจะเบี้ยว รวมทั้งแสดงอาการอื่น ๆ เช่น ยักคิ้วไม่ขึ้น หนังตาปิดไม่สนิท หรือน้ำลายไหลโดยไม่รู้ตัว

4. แขนขาอ่อนแรง

แขนขาอ่อนแรงจะคล้ายกับอาการปากเบี้ยว พบความผิดปกติในตำแหน่งควบคุมกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมแขนขาได้อย่างปกติ จะรู้สึกอ่อนแรง ขยับตัวยากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตรายของอาการเส้นเลือดในสมองแตก

5. พูดจาติดขัด

หากเส้นเลือดในสมองแตกเกิดขึ้นในตำแหน่งควบคุมกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการพูด ร่างกายจะแสดงลักษณะอาการผิดปกติ เช่น พูดติดอ่าง พูดออกเสียงไม่ชัด พูดตะกุกตะกัก หรือพูดจาติดขัด

 อาการเส้นเลือดในสมองแตก รักษาหายไหม

คำตอบ คือสามารถรักษาให้หายได้ ในกรณีที่พบอาการผิดปกติและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์จะรักษาอาการเส้นเลือดในสมองแตกด้วยการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกในสมองและรักษาระดับความดันเลือดให้คงที่ ผู้ป่วยก็จะพ้นขีดอันตราย จากนั้นให้ปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ

แนวทางป้องกันอาการเส้นเลือดในสมองแตก

สำหรับแนวทางป้องกันการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกสามารถทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น เลือกทานอาหารไขมันต่ำ ลดหวาน ลดโซเดียม งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
  • หากมีโรคประจำตัว ควรทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะอาการเส้นเลือดในสมองแตกจะทวีรุนแรงหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวแทรกซ้อน
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพประจำปี หากพบความผิดปกติ จะได้เฝ้าสังเกตอาการ หรือเข้ารับการรักษาทันที

สรุป

แน่นอนว่า แนวทางการรักษาอาการเส้นเลือดในสมองแตกมีความสำคัญต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่ผลลัพธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การสังเกตอาการแรกเริ่มและรู้วิธีป้องกัน จะช่วยลดระดับความรุนแรงของโรคนี้ได้ และอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคร้าย หากไม่สะดวกเดินทางไปตรวจเช็กสุขภาพที่โรงพยาบาล สามารถปรึกษาเราได้ที่เว็บไซต์ SAMH พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับอุปกรณ์ตรวจเช็กสุขภาพด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความดัน เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ครบจบที่นี่ที่เดียว