คนส่วนใหญ่คงเคยเห็นคนใกล้ตัวหรือเคยเผชิญกับอาการกำเดาไหลด้วยตัวเอง ถึงแม้ลักษณะอาการจะดูน่ากังวล เนื่องจากเส้นเลือดฝอยภายในจมูกฉีกขาด ทำให้เลือดไหลออกทางจมูกข้างเดียวหรือสองข้าง อย่างที่ทราบกันดี กำเดาไหลไม่ใช่โรคอันตราย หากมีเลือดออกในระดับปกติ เพียงได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี ก็สามารถหายทันที แต่ในกรณีที่พบความผิดปกติ เช่น เลือดไหลไม่หยุดหรือตัวเริ่มซีด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงได้
สาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหล
ภายในโพรงจมูกประกอบไปด้วยเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก หากเกิดความผิดปกติขึ้นบริเวณนี้ ร่างกายจะแสดงอาการเลือดไหลออกทางจมูก หรือที่เรียกว่า เลือดกำเดาไหล สามารถเกิดจากสองสาเหตุหลัก ได้แก่
- เลือดกำเดาไหลจากสาเหตุทั่วไป เช่น แคะจมูกแรง ๆ อยู่ในสถานที่ร้อนจัด จมูกได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ใช้ยาแอสไพรินเกินขนาด หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในโพรงจมูก
- เลือดกำเดาไหลจากสาเหตุพบความผิดปกติในร่างกาย เช่น ผนังกั้นโพรงจมูกทะลุเป็นรู ผนังกั้นโพรงจมูกคด เกล็ดเลือดต่ำ เส้นเลือดฝอยขยายตัว ทั้งนี้ยังรวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งในโพรงจมูก โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นต้น
ประเภทของอาการเลือดกำเดาไหล
เลือดกำเดาไหลที่เกิดขึ้นมีที่มาจากสองตำแหน่งภายในโพรงจมูก ทำให้ลักษณะอาการเลือดกำเดาไหลสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน ได้แก่ เลือดไหลจากตำแหน่งจมูกด้านหน้า และเลือดไหลจากตำแหน่งด้านหลังโพรงจมูก โดยมีรายละเอียดดังนี้
- กำเดาไหลจากตำแหน่งจมูกด้านหน้า เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป เกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กฉีกขาด ทำให้เลือดไหลออกทางจมูกเล็กน้อย ไม่ร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาล
- กำเดาไหลจากตำแหน่งด้านหลังโพรงจมูก เกิดจากหลอดเลือดขนาดใหญ่ฉีกขาด ทำให้เลือดไหลมากกว่าปกติ บางกรณีไหลลงลำคอจนเกิดการสำลัก แนะนำให้นำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
เลือดกำเดาไหลแบบไหนที่ควรพบแพทย์
ถึงแม้กำเดาไหลจะไม่ใช่โรคอันตราย แต่หากพบความผิดปกติอย่างเลือดไหลไม่หยุด ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรง เพราะฉะนั้นมารู้วิธีสังเกตเลือดกำเดาไหลแบบไหนที่ควรพบแพทย์ด่วน
- เลือดไหลไม่หยุดเกิน 10 นาที
- เลือดไหลเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อน
- มีอาการหน้ามืด ปากเริ่มซีด ตัวเริ่มซีด
- เริ่มมีอาการหายใจติดขัด
- สำลักเลือดออกทางปาก
- อัตราการเต้นของหัวใจสูง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ถ้าคนใกล้ตัวหรือตัวเองเป็นเลือดกำเดาไหล ไม่ต้องตื่นตระหนัก สามารถทำตามวิธีปฐมพยาบาล ดังต่อไปนี้
1. นั่งโน้มตัวไปด้านหน้า
การนั่งโน้มตัวไปด้านหน้าจะทำให้เลือดไม่ไหลลงลำคอและปอด ช่วยลดอาการสำลักและอาการหายใจติดขัด
2. ซับเลือดด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด
ไม่แนะนำให้ใช้ทิชชูปิดรูจมูก แต่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำซับเลือด จากนั้นนำผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งมาประคบเย็นบริเวณดั้งจมูกและหน้าผาก
3. บีบปีกจมูกทั้งสองข้าง 5 นาที
ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5 นาที โดยหายใจทางปากแทน เพื่อกดผนังกั้นช่องจมูกไม่ให้เลือดไหลออกมา ทำต่อเนื่องจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
4. บ้วนเลือดทิ้งแทนการกลืน
หลายคนเข้าใจผิด กลัวจะสูญเสียเลือดอันเนื่องจากกำเดาไหล จึงเลือกที่จะกลืนเลือด ไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น เพราะหากกลืนเลือดลงท้องอาจทำให้ร่างกายต่อต้านและเกิดการอาเจียนได้ ควรบ้วนเลือดทิ้ง
5. ประคบเย็นจนอาการดีขึ้น
การประคบเย็นช่วยทำให้เลือดแข็งตัว ลดอาการกำเดาไหลได้ดี นำผ้าห่อน้ำแข็งและประคบบริเวณดั้งจมูกและหน้าผาก
สรุป
โดยทั่วไป กำเดาไหลเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่าย อากาศร้อนไป เย็นไป หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ เส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกก็ฉีกขาดได้แล้ว แต่อย่าลืมว่าอาการเบื้องต้น คือ จะมีเลือดไหลเพียงเล็กน้อย ไม่นานก็หยุดไหล ในกรณีพบความผิดปกติอย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น อย่าชะล่าใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์โดยด่วน
สำหรับใครที่กำลังมองหาอุปกรณ์ตรวจเช็กสุขภาพด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความดัน เครื่องวัดอุณหภูมิ หรือเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด สามารถสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ SAMH