ในช่วงนี้หน่วยงานสาธารณะสุขได้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ให้กับประชาชนทั่วไป ในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว แน่นอนว่าหลังจากการฉีดวัคซีนแล้วย่อมมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งโดยปกติแล้วผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้นจะมีทั้งแบบที่ไม่รุนแรงและแบบรุนแรง โดยวิธีปฎิบัติตัวจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะอาการ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุขได้ระบุข้อแนะนำไว้สำหรับผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนี้
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบว่าผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนมีทั้งแบบที่ไม่รุนแรงและรุนแรง
1. อาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว คลื่นไส้ เป็นไข้ หรือปวดท้อง
2. อาการข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่ เป็นลมหมดสติ อาเจียน หอบเหนื่อย ท้องร่วง ปากเบี้ยว แขนและขาชา ตาพร้ามัว ปวดท้องรุนแรง หรือ ขาเกิดอาการบวมแดง
ทั้งนี้หากอาการข้างเคียงไม่รุนแรง ท่านสามารถดูแลตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หากเกิดอาการปวดหัวเป็นไข้ ท่านสามารถทานยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอลได้ ประกอบกับการดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ โดยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหากอาการไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ในส่วนของอาการข้างเคียงที่รุนแรง มักจะเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีนไม่เกิน 30 นาที ซึ่งส่วนมากท่านจะยังอยู่บริเวณพื้นที่เฝ้าสังเกตอาการจากสถานพยาบาลที่ท่านเข้ารับวัคซีน โดยให้ท่านขอความช่วยเหลือจากบุคลากรการแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยทันที แต่หากท่านอยู่นอกสถานพยาบาลแล้วให้ท่านไปสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันทีหรือโทรสายด่วน 1669
ถึงแม้ว่าหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 30 นาทีแล้วยังไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ท่านก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามสังเกตอาการตนเองและบุคคลรอบข้างที่บ้านต่อเนื่องไปประมาณ 30 วัน โดยการสังเกตจากอาการต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้น รวมถึงการตรวจเช็คอุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ อุปกรณ์เครื่องวัดความดันและเทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอลควรได้รับการรับรองแล้วว่าผ่านการทดสอบทางการแพทย์จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือก่อนนำมาใช้งาน เนื่องจากการใช้เครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานจะทำให้ค่าที่อ่านได้คลาดเคลื่อนและนำไปสู่การประเมินตนเองที่คลาดเคลื่อนได้
ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์กับผู้ที่ฉีดแต่ในปัจจุบันการฉีดวัคซีนนับว่าเป็นวิธีที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ได้ดีที่สุด หากมีการเตรียมตัวที่ดีก็จะมีส่วนช่วยลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้
Ref
: Petcharavej Hospital. ผลข้างเคียงเมื่อต้องฉีดวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า) วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2564 สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2564 จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Side-Effects-After-Getting-COVID-19-Vaccine-AstraZeneca
: Bangkok Hospital. อาการต้องรู้หลังฉีดวัคซีน COVID-19 สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2564 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/symptoms-to-know-after-getting-the-covid-19-vaccine
: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข. คำนิยามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงคหลังการได้รับวัคซีน (Adverse Event Following Immunization). วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2564 สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2564 จาก https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/12/1620107182946.pdf