ผู้ป่วยติดเตียงกับแผลกดทับ ป้องกันได้

ผู้ป่วยติดเตียงกับแผลกดทับ

การนอนติดเตียงคงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้สูงอายุที่มีร่างกายเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา เมื่อร่างกายค่อย ๆ แก่ตัวลง ข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา หนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกันกับภาวะการนอนติดเตียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือแผลกดทับที่อาจค่อย ๆ ลุกลามขึ้นโดยที่ผู้ดูแลไม่รู้ตัว กว่าจะรู้อีกครั้งก็อาจจะเกิดแผลลุกลามใหญ่โตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยติดเตียงจะต้องมีแผลกดทับเกิดขึ้นบนร่างกายเสมอไป โดยในปัจจุบันมีวิธีใหม่ ๆ มากมายในการลดความเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลหรืออุปกรณ์ในการช่วยป้องกันแผลกดทับ

ก่อนอื่นผู้ดูแลควรทำความข้าใจในเรื่องของแผลกดทับก่อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อเตรียมตัวในการป้องกันได้อย่างถูกต้อง โดยปกติแล้วแผลกดทับเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถขยับร่างกายได้และอยู่ในบริบทเดิมนาน ๆ เช่นนั่งบนรถเข็นนาน ๆ หรือนอนบนเตียงติดต่อกันหลายวัน ส่งผลน้ำหนักตัวกดทับลงบนเส้นเลือดและทำให้เลือดไม่สามารถขนสารอาหารและออกซิเจนได้โดยสะดวกทำให้เกิดแผลกดทับขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ผู้ดูแลสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับได้โดยการหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยเปลี่ยนท่าทางการนอนสลับกันไป เช่น ท่านอนตะแคง ซ้าย-ขวา นอนหงาย เป็นต้น ทั้งนี้การพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง อาจเป็นภาระที่หนักสำหรับผู้ดูแล ในปัจจุบันจึงมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันแผลกดทับสำหรับให้เลือกใช้หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ที่นอนลมแบบรังผึ้ง ที่นอนลมแบบลอน ที่นอนโฟมกระจายแรงกดทับที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะ เป็นต้น โดนสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับกับผู้ป่วยติดเตียงแล้วก็ยังจำเป็นต้องพลิกตัวผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการพลิกตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันแผลกดทับ โดยการใช้อุปกรณ์ช่วยจะสามารถยืดระยะเวลาจากการพลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโมงไปเป็น 4 ชั่วโมงได้นั่นเอง นอกจากนี้ การดูแลรักษาความสะอาดของที่นอน ไม่ให้มีความอับชื้นจากปัสสาวะหรือเหงื่อไคลก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับได้อีกด้วย โดยอาจใช้แผ่นรองซับรองบริเวณด้านใต้ตัวผู้ป่วยซึ่งหากผู้ป่วยปัสสาวะก็ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันทีก็จะทำให้สามารถควบคุมความชื้นได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
การดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ดูแลควรเอาใจใส่และหมั่นตรวจเช็คบริเวณจุดเสี่ยงต่าง ๆ บนร่างกายของผู้ป่วย เช่น ศีรษะ ก้นกบ ตาตุ่ม ข้อศอก สะโพก หัวไหล่ เป็นต้น ว่ามีแผลกดทับเกิดขึ้นหรือไม่ โดยสังเกตจากรอยแดงบนผิวหนังซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเกิดแผลกดทับระยะที่ 1 ซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้แผลเริ่มกินลึกเข้าไปในชั้นผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูก ตามลำดับได้ โดยหากแก้ไขได้ทันท่วงทีจะช่วยผ่อนภาระของผู้ดูแลได้มากเพราะการรักษาแผลกดทับย่อมมีค่าใช้จ่ายและการดูแลที่ยากมากกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับนั่นเอง

 

Ref
: National Pressure Ulcer Advisory Panel, European Pressure Ulcer Advisory Panel and Pan Pacific Pressure Injury Alliance. Prevention and Treatment of Pressure Ulcers: Clinical Practice Guideline. Emily Haesler (Ed.). Cambridge Media: Osborne Park, Western Australia; 2014 สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564
: Model Systems Knowledge Translation Center (MSKTC). Preventing Pressure Sores. SCI Model System Dissemination Committee in col-laboration with the University of Washington Model Systems Knowledge Translation Center สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564