ภาวะหายใจไม่อิ่ม หรืออาการหายใจไม่เต็มปอด เป็นปัญหาที่หลายคนกำลังเผชิญกันอยู่ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ที่ผู้คนมีอาการนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อเป็นแล้วก็จะรู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด รู้สึกอึดอัด และแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก อาการนี้ก็ได้สร้างความกังวลให้ผู้คนไม่น้อยเลย แท้ที่จริงแล้วอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคร้ายแต่อย่างใด เพียงแค่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มาเช็กกันหน่อยดีกว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นใช่อาการของการหายใจไม่อิ่มหรือเปล่า
อาการหายใจไม่เต็มปอดเป็นอย่างไรบ้าง
อาการหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจไม่เต็มปอด เป็นอาการที่ปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยที่มีอาการนี้จะไม่สามารถสูดอากาศเข้าในร่างกายได้อย่างเต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงส่งผลให้รู้สึกว่าหายใจไม่ออก เกิดความอึดอัด และจะหายใจได้แบบช่วงสั้น ๆ แทน
อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่มขึ้นก็มาจากหลากหลายสาเหตุที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น การที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศกระตุ้นให้เกิดอาการนี้ขึ้น หรือการทำกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้แรงมากจนเกินไป ซึ่งหากว่าเกิดอาการนี้ขึ้นแล้วปล่อยไว้นานเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่มแบบเรื้อรังได้
สำหรับอาการรู้สึกหายใจไม่เต็มปอดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คือ การที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ได้ หรือจะเป็นการหายใจเป็นจังหวะได้เพียงแค่สั้น ๆ อีกทั้งยังเกิดอาการแน่นหน้าอกจึงทำให้หายใจได้ไม่สะดวก และสูดอากาศเข้าสู่ร่างกายได้ไม่เพียงพอ รวมถึงหากว่าอาการมีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเหมือนจะขาดใจหรือหายใจไม่ออกได้เลย
ประเภทอาการหายใจไม่อิ่ม
อาการหายใจไม่อิ่มสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ หายใจลำบากเฉียบพลัน หายใจลำบากขณะนอนหลับ หายใจลำบากเรื้อรัง และหายใจลำบากจนต้องถอนหายใจ แต่ละประเภทมีลักษณะและสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้
หายใจลำบากเฉียบพลัน
หายใจลำบากเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ผู้ป่วยจะรู้สึกหายใจไม่อิ่มอย่างกะทันหัน อาจมีอาการหายใจหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก โดยอาจมีสาเหตุอาจเกิดจากโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน ภาวะปอดอักเสบหรือภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
หายใจลำบากขณะนอนหลับ
ภาวะหายใจลำบากขณะนอนหลับเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้ป่วยจะรู้สึกหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจไม่สะดวกในขณะที่นอนราบ ทำให้ผู้ป่วยต้องลุกขึ้นนั่ง หรือยืนเพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) โรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทั้งนี้หากมีอาการหายใจไม่สุดขณะนอน หรือนอนกรน สามารถเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยจะช่วยให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว
หายใจลำบากเรื้อรัง
ภาวะหายใจลำบากเรื้อรัง เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เต็มปอด หรือหายใจลำบากเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัปดาห์ เดือน หรือแม้กระทั่งปี สาเหตุของอาการเหล่านี้ อาจเกิดจากโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหัวใจหรือภาวะอ้วน สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรค และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง รวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อบรรเทาอาการให้ทุเลาลง
หายใจลำบากจนต้องถอนหายใจ
อาการหายใจลำบากจนต้องถอนหายใจเป็นภาวะที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าต้องพยายามสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เป็นระยะ เพื่อให้รู้สึกว่าได้รับออกซิเจนเพียงพอ อาการนี้อาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะหายใจมากเกินไป (Hyperventilation) นอกจากนี้ ยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางระบบหายใจ หรือระบบหัวใจและหลอดเลือด
อาการหายใจไม่อิ่มเป็นสัญญาณเตือนของโรคอะไรบ้าง
อาการหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง หรืออาการหายใจไม่เต็มปอด ไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราเริ่มเหนื่อยเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อบ่งชี้ของโรคและภาวะต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- ภาวะทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดบวม โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ รวมทั้งอาการแพ้ต่าง ๆ เป็นต้น
- ภาวะหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
- วัณโรค
- โรคอ้วน
การบรรเทาอาการหายใจไม่อิ่ม
อาการหายใจไม่อิ่มเป็นอาการที่ดูเหมือนว่าน่ากลัวมากก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถหาทางบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ โดยสิ่งที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการรู้สึกหายใจไม่เต็มปอดได้ก็คือ การอยู่ในท่าทางต่าง ๆ ที่จะต้องทำไปพร้อมกับการหายใจด้วยท้องและการหายใจด้วยวิธีการห่อริมฝีปาก ก็จะสามารถช่วยให้อาการที่เป็นดีขึ้นได้ ซึ่งท่าทางที่ควรทำเมื่อมีอาการหายใจไม่อิ่ม มีดังต่อไปนี้
- การนั่งเอนตัวไปด้านหน้า ท่านี้ให้ทำโดยการที่ผู้ป่วยจะต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้พร้อมกับการวางเท้าให้ราบไปกับพื้น จากนั้นก็ค่อย ๆ เอนตัวมาด้านหน้าแล้วทำการยกศอกขึ้นวางลงบนหัวเข่าหรือว่าจะเป็นการนั่งแบบเท้าคางก็ได้เช่นกัน หลังจากนั้นจึงปล่อยตัวตามสบายไม่เกร็งไหล่และคอ
- การนั่งเอนตัวไปด้านหน้าแบบที่มีโต๊ะค้ำไว้ ท่านี้ให้ทำโดยการที่ผู้ป่วยจะต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้พร้อมกับการวางเท้าให้ราบไปกับพื้น จากนั้นให้โน้มตัวไปด้านหน้าพร้อมกับการวางแขนทั้งสองข้างลงบนโต๊ะ หลังจากนั้นให้เอนศีรษะไปบนแขนที่วางอยู่
- การนอนในท่าที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ผู้ป่วยที่มีปัญหาหายใจไม่อิ่มขณะที่นอนหลับจะต้องนอนด้วยท่าตะแคงข้างพร้อมกับการหนีบหมอนไว้ที่ขาและต้องหาหมอนมาใช้หนุนศีรษะให้ยกสูงขึ้นด้วย ในการนอนควรเหยียดตัวตรง
แนวทางการป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม
แม้ว่าจะสามารถบรรเทาอาการหายใจไม่อิ่มได้ก็จริง แต่การป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่า ซึ่งแนวทางการป้องกันอาการหายใจไม่เต็มปอดก็สามารถทำได้ดังนี้
- ฝึกหายใจด้วยท้อง: วิธีนี้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อกะบังลมสามารถทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้นและยังเป็นการช่วยให้หายใจได้สะดวกมากขึ้นด้วย วิธีการก็ทำได้ด้วยการวางมือข้างหนึ่งลงที่หน้าอกและมืออีกข้างวางบนหน้าท้อง จากนั้นใช้มือกดไปเบา ๆ ลงบนท้อง เพื่อเป็นการช่วยไล่อากาศ
- ฝึกหายใจแบบห่อริมฝีปาก: วิธีนี้จะช่วยทำให้สามารถควบคุมจังหวะของการหายใจให้ช้าลงได้ ช่วยให้สูดหายใจได้ลึกมากขึ้นและร่างกายก็จะได้รับออกซิเจนแบบเต็มที่ วิธีการก็ทำได้ด้วยการหายใจเข้าทางจมูกพร้อมกับการห่อริมฝีปากไปด้วยแล้วทำการปล่อยลมหายใจออกมาทางปากแบบช้า ๆ
- เลือกออกกำลังกายอย่างเหมาะสม: วิธีนี้จะช่วยให้ปอดและหัวใจทำงานได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อวัยวะเกิดความแข็งแรง และส่งดีต่อการหายใจเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาอาการหายใจไม่อิ่มได้ โดยการออกกำลังกายก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเดิน, การวิ่ง หรือว่าการปั่นจักรยาน
- ผ่อนคลายความเครียด: รู้หรือไม่ว่าการวิตกกังวลและการมีความเครียดสะสมนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลต่ออาการหายใจไม่อิ่มได้ จึงทำให้ควรจะผ่อนคลายจากความเครียดทั้งหลาย ซึ่งการผ่อนคลายความเครียดก็ทำให้หลากหลายวิธี เช่น การฟังเพลง, การออกกำลังกาย, การพูดคุยกับผู้อื่น หรือว่าการทำสมาธิ
- ขับเสมหะออกจากปอด: อีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่ออาการหายใจไม่อิ่มได้ด้วย ก็คือ เสมหะ จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องขับเสมหะออก ซึ่งหากว่าผู้ป่วยมีเสมหะในปอดเยอะก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาและหาวิธีการระบายเสมหะออกไปจากปอดนั่นเอง
การตรวจวินิจฉัยอาการหายใจไม่อิ่ม มีอะไรบ้าง
หากสังเกตตัวเองไปแล้ว รู้สึกเริ่มหายใจไม่สุด อยากไปพบแพทย์แต่ก็มีความกังวล ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยอาการหายใจลำบากนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
- เริ่มต้นจากการซักประวัติ และตรวจร่างกาย เช่น การตรวจสัญญาชีพ ค่าความดันโลหิต ค่าออกซิเจนในเลือด และฟังเสียงปอด
- ตรวจเอกซเรย์ช่องทรวงอก
- ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด
- ตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและปอด โดยการวัดปริมาณออกซิเจนที่หายใจเข้า และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมา
การรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม
ผู้ที่กำลังเผชิญกับอาการหายใจไม่เต็มปอด วิธีแก้ และวิธีการรักษา เพื่อช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น มีดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: เพื่อช่วยเสริมสมรรถภาพการทำงานของปอดและหัวใจ
- ผ่อนคลายจากความเครียด: อาการวิตกกังวล และความเครียดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่สุดได้ ดังนั้นการฝึกหายใจเข้า-ออกจะสามารถช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด และหายใจได้สะดวก
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง: ในกรณีที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลอดลม เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดตันกั้นเรื้อรัง เป็นต้น ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อบรรเทาอาการลง
ออกซิเจนบำบัด (Oxygen Therapy): สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคที่เกี่ยวกับปอด หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน การบำบัดด้วยออกซิเจนจะช่วยเพิ่มระดับออกซิเจน ช่วยให้หายใจได้สะดวก
สรุปจบบทความ
จากที่กล่าวมานี้ก็คงจะช่วยทำให้ทราบแล้วว่าอาการหายใจไม่เต็มปอดเป็นอย่างไรบ้าง แล้วหากเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม วิธีแก้และวิธีบรรเทาอาการควรทำอย่างไรบ้าง โดยหากทราบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวก็ควรเฝ้าสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งการมีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วติดบ้านไว้ก็จะสามารถช่วยให้เฝ้าระวังอาการได้ดีมากขึ้น เนื่องจากว่าเครื่องนี้จะช่วยบอกได้ว่าค่าออกซิเจนในขณะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง หากพบว่าค่าออกซิเจนผิดปกติจะช่วยให้ได้ไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง