ผู้ป่วยเบาหวาน ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ผู้ป่วยเบาหวาน ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน ทำได้ไหมอันตรายหรือเปล่า? นี่คือข้อมูลที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายคนสงสัย เพราะกลัวว่าจะกระทบกับอาการเบาหวาน อีกทั้งหลายคนที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจสนใจแต่เรื่องของการรับประทานอาหารสำหรับคนป่วยเบาหวาน การวัดระดับน้ำตาลทุกวัน การพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หลงลืมไปว่าควรจะทำควบคู่กับการออกกำลังกายด้วย เพราะจะเสริมความแข็งแรงให้กับระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายได้

แต่ทั้งนี้ก็ต้องเลือกวิธีการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานด้วยแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละคนด้วย เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอาการหลายระดับ ในบางระดับอาจไม่เหมาะกับการออกกำลังกายเลยก็มี ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพของผู้ที่มีภาวะเบาหวาน ควรเลือกออกกำลังแบบไหนถึงจะเหมาะสม ติดตามได้ในบทความนี้เลย

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเตรียมตัวอย่างไร

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ก่อนที่จะเลือกวิธีการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน ก็ควรเข้าใจก่อนว่าโรคนี้คืออะไร? ซึ่งโรคเบาหวานก็คือ การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำตาลต่ำจนเกินไปด้วย การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคนี้มาก ๆ  การออกกำลังจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ หรือขึ้นลงในระดับที่ไม่อันตราย แต่การจะออกกำลังกายก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในหลาย ๆ ด้าน โดยมีสิ่งที่ควรต้องพิจารณาก่อนการออกกำลังกาย ดังนี้

1. ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

ผู้ป่วยเบาหวานควรต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อเช็กอาการ และรับยาทานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับคำแนะนำในด้านอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถสอบถามเรื่องการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานจากแพทย์ที่เราพบเป็นประจำได้เลย ว่าระดับอาการของโรคเบาหวานที่มีอยู่จะสามารถออกกำลังกายได้ไหม? และควรเลือกออกกำลังกายแบบไหนถึงจะเหมาะสม ไม่อันตรายกับร่างกาย และไม่กระทบกับโรคที่เป็นอยู่

เนื่องจากในผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีอาการของโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคความดัน และโรคไขมัน เป็นต้น หากต้องการควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามเร็ว และอยู่ในขอบเขตที่ดูแลตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อการออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย และช่วยบริหารจัดการโรคประจำตัวเหล่านี้ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้

2. เลือกประเภทของการออกกำลังกาย

ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายแบบไหนถึงจะเหมาะสม เรามีประเภทของการออกกำลังกายที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ มีดังนี้

  1. การเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนแบบไม่หนักจนเกินไปมีหลายแบบ เช่น การเต้นแอโรบิค การเล่นโยคะในท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้
  2. ท่าบริหารร่างกายแบบง่าย ๆ เช่น ออกกำลังขา, แขน, ลำตัว ซึ่งจะเป็นท่าพื้นฐานง่าย ๆ ไม่อันตราย 
  3. ว่ายน้ำ, วิ่ง, เดิน, การปั่นจักรยาน, หรือเล่นกีฬาที่เหมาะสมกับร่างกายภายใต้คำแนะนำของแพทย์  

หากเป็นการออกกำลังกายที่คุ้นเคย หรือเล่นกีฬาเป็นประจำอยู่แล้ว ก็สามารถเลือกวิธีที่ถนัดได้ แต่อย่าหักโหมมากจนเกินไป และต้องระมัดระวังระดับน้ำตาล, ความดัน และอัตราการเต้นของหัวใจด้วย เพื่อการออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย และไม่มีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อน

3. ระยะเวลาออกกำลังกาย

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำคือ 30-40 นาที โดยควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน หากมีอาการเหนื่อยหอบมาก สามารถแบ่งเป็นช่วงเวลาได้ เช่น แบ่งออกกำลังกายครั้งละ 10 นาที แต่ออก 3 รอบภายใน 1 วัน ให้ครบเป็น 30 นาทีก็ได้ ทั้งนี้ระยะเวลานี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของร่างกาย

4. ใส่รองเท้าออกกำลังกาย

การเลือกรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็นไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไปด้วยเช่นกัน เพราะการเลือกรองเท้าให้เหมาะกับการออกกำลังหรือการเล่นกีฬา จะช่วยเซฟร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง, การเดิน หรือการกระโดด รองเท้าที่ขนาดและรูปทรงเหมาะสมจะช่วยรองรับน้ำหนักได้ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหากับเท้าและข้อเท้าได้

5. มีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

การออกกำลังกายในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน หลายคนมักมองข้ามเรื่องการมีคนอยู่ใกล้ชิดขณะออกกำลังกายด้วย เพราะอาจคิดว่าอาการของตนเองอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง สามารถดูแลตัวเองได้ ก็มักจะเลือกออกกำลังกายลำพัง หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการไปออกกำลังกายลำพัง ควรเลือกสถานที่ที่มีคนเยอะ ๆ เช่น ฟิตเนส, สวนสาธารณะ เพราะหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น จะได้มีคนช่วยเรียกรถพยาบาลได้ทันท่วงที

แต่สำหรับการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการค่อนข้างเยอะ ควรเลือกออกกำลังกายที่บ้านที่มีคนในครอบครัวคอยดูแลอย่างใกล้ชิด จะได้ออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย

ทำความเข้าใจภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเบาหวานนอกจากต้องระวังระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องระวังเรื่องภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำด้วย ซึ่งควรควบคุมร่างกายให้มีระดับน้ำตาลในเลือดไม่น้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งหากมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำกว่านี้จะส่งผลทำให้เกิดอาการหน้ามืด, ตาพร่า และเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการที่จะเกิดได้ทันทีหลังระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ยังส่งผลข้างเคียงอื่น ๆ ต่อร่างกายได้อีก เช่น หงุดหงิดง่ายและหิวบ่อย

ทำความเข้าใจภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดได้จากหลายปัจจัย รวมทั้งอาจเกิดจากการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานในระดับที่ไม่เหมาะสมก็ได้ สิ่งที่จะช่วยให้ควบคุมภาวะเหล่านี้ได้ คือ ต้องหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจเป็นประจำทุกวัน ปัจจุบันก็มีเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด ที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง พกพาติดตัวได้ง่าย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

สรุปบทความ

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างปลอดภัย แค่ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในการฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยด้วย สิ่งสำคัญเลยคือการเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม และควรทำเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยให้สามารถควบคุมโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่าลืมที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยควบคู่ไปกับการดูแลด้านโภชนาการที่ดีอย่างเหมาะสม จะยิ่งเสริมประโยชน์จากการออกกำลังกายได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมอาการได้ดี ไม่มีการเพิ่มระดับความรุนแรงของโรค และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย