อาการแผลกดทับเป็นสิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้โดยตรง เนื่องจากว่าบริเวณที่เป็นแผลนั้นมักจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวได้แบบอิสระ อีกทั้งยังเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะหากอาการมีความรุนแรงมากขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตามการมีแผลกดทับก็อาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญว่าทำไมถึงควรรีบรักษาและไม่ควรปล่อยไว้
อาการแผลกดทับคืออะไร
แผลกดทับคือ แผลที่เกิดขึ้นได้จากการโดนกดทับต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เมื่อเป็นเช่นนี้ผิวหนังหรือว่าเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังจึงถูกทำลายไปแบบเฉพาะที่ จากนั้นจึงเกิดเป็นแผลและเนื้อตายขึ้นมา นอกจากที่จะเป็นแผลแล้วก็ยังจะมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแผลชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูก เช่น ก้นกบ, ข้างสะโพก หรือว่าส้นเท้า
อาการแผลกดทับเกิดจากอะไร
สำหรับอาการแผลกดทับนั้น ก็เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้กับผิวหนังหรือว่าชั้นใต้ผิวหนัง โดยส่วนใหญ่แล้วอาการนี้มักจะพบในผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านของการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- การกดทับ แผลกดทับอาจเกิดจากแรงกดทับบนผิวหนังจากการนั่งหรือนอนในท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไปโดยไม่มีการเคลื่อนไหว ผู้ใช้รถเข็นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเนื่องจากใช้เวลานั่งบนรถเข็นแต่ละวันเป็นเวลานาน หากไม่มีการลดแรงกดทับ แผลกดทับจะเกิดขึ้นง่ายมาก
- แรงไถและความเสียดทาน ซึ่งจะทำให้เกิดการปริแตกของเนื้อเยื่อได้ง่าย และมักจะพบในผู้ป่วยอัมพาตที่นั่งรถเข็นโดยเฉพาะเวลามีการเคลื่อนตัว บนรถเข็น
- แรงเฉือน เกิดจากการที่ผิวหนังอยู่นิ่งถูกยืดหรือบีบเนื่องจากกล้ามเนื้อหรือกระดูกเคลื่อนที่ตัวอย่างในผู้ใช้รถเข็นที่นั่ง “ตัวงอโค้งไปด้านหน้า” ผิวหนังจะเกิดอันตรายจากการฉีกขาด
- อุณหภูมิ ผลของการเพิ่มอุณหภูมิจะทำให้มีการเพิ่มของเมตาบอลิสซึม ของเซลล์ ส่งเสริมให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและตายได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้แผลกดทับรุนแรงยิ่งขึ้น
- การบวมน้ำ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางการส่งผ่านอาหารและออกซิเจนจากเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเซลล์ทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้นและหายช้าลงด้วย
- ภาวะความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เพราะการที่ต่อมไร้ท่อผิดปกติทำงานผิดปกติ หมายถึงสุขภาพโดยรวมของร่างกายจะแย่ลงด้วย
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับ
นอกเหนือจากสาเหตุสำคัญข้างต้นที่ทำให้เกิดแผลกดทับแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรียกว่า “ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ” หรือ “Pressure Sore Risk Factors”
- บุคคลที่สูญเสียการรับความรู้สึก บุคคลที่สูญเสียหรือไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกสัมผัสบริเวณก้น (โดยเฉพาะในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนและผู้ป่วยอัมพาตทั้งตัว) มีโอกาสเกิดแผลกดทับบริเวณก้นและขา เพราะนั่งรถเข็นนานๆโดยไม่รู้ตัวผ่าเกิดแผลแล้ว
- บุคคลที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้จะไม่สามารถลดแรงกดได้ ต้องอาศัยที่นอนลม หรือรถเข็นที่รองรับสรีระ (ในต่างประเทศนิยมรถเข็นที่มีความโค้งงอเป็นรูป S-Shape)
- ความชื้นจากเหงื่อ น้ำหรือปัสสาวะ/อุจจาระเล็ดราด ความชื้นทำให้ผิวหนังนุ่มและทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย ถ้าผู้ป่วยไม่ทราบวิธีจัดการกับปัสสาวะ/อุจจาระที่เหมาะสม ปัสสาวะและอุจจาระจะระคายเคืองต่อผิวหนัง
- การอยู่ในท่าทางที่ไม่ดี การไม่นั่งตัวตรงจะทำให้เกิดแรงกดในบริเวณใดบริเวณหนึ่งมากกว่าปกติ
- เคยมีหรือกำลังมีแผลกดทับ
- ภาวะทางโภชนาการ การขาดโปรตีนจะทำให้การเสริมสร้างเนื้อเยื่อ ช้าลง ส่งผลให้แผลหายช้า พบว่าผู้ป่วยที่มีแผลควรได้รับโปรตีน 80 – 100 กรัม/วัน นอกจากนี้ภาวะความไม่สมดุลของไนโตรเจน แคลเซียม การขาดวิตามิน เหล่านี้ทำให้แผลหายช้าลง
- ผู้สูงอายุ : ผู้สูงอายุมักผอมและมีผิวหนังที่เปราะบางซึ่งทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย นอกจากนี้ยิ่งอายุมากขึ้นร่างกายของเราจะฟื้นตัวได้ช้าลง จึงเพิ่มความรุนแรงของแผลกดทับ
- น้ำหนัก (น้ำหนักที่มากเกินหรือน้อยเกินไป) ผู้ที่อ้วนจะมีการไหลเวียนโลหิตบริเวณผิวหนังไม่ดีทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายและบาดแผลจะหายยาก ผู้ใช้รถนั่งคนพิการที่มีน้ำหนักน้อยจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับเพราะผิวหนังจะอยู่ติดกับกระดูก ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดอันตรายได้รวดเร็วบริเวณที่พบแผลกดทับได้บ่อย
ระดับความรุนแรงของอาการแผลกดทับ
อาการแผลกดทับไม่ได้มีแค่อาการรูปแบบเดียวหรือระดับเดียวเท่านั้น แต่จะมีการแบ่งระดับของอาการเอาไว้ได้เป็น 4 ระดับด้วยกัน โดยระดับอาการจะเรียงตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับที่รุนแรง ซึ่งมีรายละเอียดอาการดังนี้
ระดับที่ 1: สำหรับแผลที่อยู่ในระดับที่ 1 ก็จะมีลักษณะเป็นผิวหนังที่แดง โดยจะเกิดขึ้นในบริเวณที่ถูกกดทับเอาไว้ เมื่อทำการกดลงไปในบริเวณดังกล่าวสีแดงที่เป็นจะไม่ซีดจางไป และจะมีอาการเจ็บร่วมด้วย
ระดับที่ 2: สำหรับแผลที่อยู่ในระดับที่ 2 ก็จะมีลักษณะที่ผิวหนังเริ่มเกิดแผลเปิดในขนาดที่เล็ก หรือในบางรายอาจจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใส โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นบริเวณรอบ ๆ แผลที่ผิวหนังแดง และอาจเกิดการระคายเคืองได้
ระดับที่ 3: สำหรับแผลที่อยู่ในระดับที่ 3 ก็จะมีลักษณะเป็นผิวหนังที่เริ่มจะเกิดแผลแบบลึกมากขึ้นไปจนถึงชั้นใต้ผิวหนัง โดยนอกจากนั้นแล้วก็ยังสามารถเห็นไปได้ถึงชั้นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังลงไปอีกนั่นเอง
ระดับที่ 4: สำหรับแผลที่อยู่ในระดับที่ 4 ก็จะมีลักษณะเป็นผิวหนังที่เกิดแผลลึกมากแล้ว โดยแผลจะลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือว่าชั้นกระดูกเลย
การป้องกันแผลกดทับ
- ดูแลพลิกตะแคงตัวเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง โดยจัดให้ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนหงาย นอนคว่ำกึ่งตะแคง สลับกันไป ตามความเหมาะสมควรใช้หมอนหรือผ้านุ่มๆรองบริเวณที่กดทับหรือ ปุ่มกระดูกยื่น เพื่อ ป้องกันการเสียดสีและลดแรงกดทับ
- ควรใช้ที่นอนที่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ที่นอนลม ที่นอนน้ำ ที่นอนฟองน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอนที่การระบายอากาศ ไม่ดี เช่น ที่นอน หุ้มพลาสติก
- ดูแลผิวหนังผู้ป่วยให้สะอาด แห้ง ไม่อับชื้น เพราะถ้าผิวหนังเปียกชื้นหรือร้อนจะทำให้เกิดแผลเปื่อย ผิวหนังถลอก และหากสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีผิวหนังแห้งแตกเป็นขุยควรดูแลทาครีม หรือโลชั่นทาผิวหนังที่ฉายรังสี
- ดูแลให้ผู้ป่วยออกกำลังกายตามความเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อ หลอดเลือดและผิวหนังแข็งแรง มีการไหลเวียนของโลหิตดี
- ดูแลให้อาหารผู้ป่วยอย่างเพียงพอ คุณค่าทางโภชนาการครบโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนจำเป็นอย่างมากต่อผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ นอกจากนี้ต้องดูแลให้วิตามิน ธาตุเหล็ก และน้ำอย่างสมดุลด้วย
- ดูแลความสะอาดของที่นอน ไม่ให้มีความอับชื้นจากปัสสาวะหรือเหงื่อไคล เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ โดยอาจใช้แผ่นรองซับรองบริเวณด้านใต้ตัวผู้ป่วย ซึ่งหากผู้ป่วยปัสสาวะก็ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที ก็จะช่วยควบคุมความชื้นได้ดียิ่งขึ้น
- ผู้ดูแลควรหมั่นตรวจเช็dบริเวณจุดเสี่ยงต่าง ๆ บนร่างกายของผู้ป่วย เช่น ศีรษะ ก้นกบ ตาตุ่ม ข้อศอก สะโพก หัวไหล่ เป็นต้น หากพบว่ามีแผลกดทับก็จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที\
แนวทางการรักษาอาการแผลกดทับ
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเมื่อมีอาการแผลกดทับก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาและดูแลเป็นอย่างดี นั่นก็เพื่อเป็นการช่วยลดภาวะเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา และไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งแนวทางการรักษาก็สามารถทำได้ดังนี้
- ลดแรงกดทับ โดยวิธีการนี้จะเป็นการจัดท่านอนให้กับผู้ป่วย ที่จะต้องทำการพลิกตัวผู้ป่วยในทุก ๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งการนอนตะแคงควรอยู่ที่ระดับ 30-45 องศา และจะต้องให้ผู้ป่วยนอนหนุนศีรษะไม่สูงเกิน 30 องศา อีกทั้งจะต้องไม่นั่งกดทับแผล
- ดูแลแผล การดูแลแผลเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ โดยแผลจะสามารถหายได้ดีเมื่อมีความชุ่มชื้น เมื่อเป็นเช่นนี้แพทย์ก็จะทำการพิจารณาแผลจากน้ำหลั่งก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถเลือกวัสดุที่เหมาะสมมาใช้สำหรับการปิดแผลได้ เนื่องจากว่าการเลือกที่เหมาะสมจะช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้นและยังช่วยลดการเสียดสีที่บริเวณผิวหนังด้วย
- การตัดเนื้อตาย สำหรับเนื้อตายที่เกิดขึ้นนั้น แพทย์จะทำการตัดเนื้อเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกไป เพื่อช่วยให้แผลไม่เกิดการติดเชื้อหรือไม่มีเนื้อตายติดอยู่ด้วย ซึ่งการรักษาก็จะพิจารณาตามความเหมาะสม
สรุปบทความ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็ช่วยให้ได้ทำความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้นแล้วว่า แผลกดทับคืออะไร ระดับอาการมีแบบไหนบ้าง แล้วแนวทางการรักษาผู้ป่วยสามารถทำได้อย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าเป็นอาการที่น่าเป็นห่วงและต้องได้รับการรักษารวมถึงการดูแลเป็นอย่างดีด้วย ทั้งนี้สำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือมีผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากเท่าไหร่ ก็แนะนำว่าให้ใช้ที่นอนโฟมป้องกันแผลกดทับร่วมกับการดูแลอย่างอื่นด้วย ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเป็นแผลกดทับไปได้มากทีเดียว