ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร มีวิธีป้องกันและรักษายังไงบ้าง

1. ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร_ มีลักษณะอาการยังไงบ้าง

อาการออฟฟิศซินโดรมเป็นอาการยอดฮิตที่มักจะพบบ่อยในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ โดยอาการออฟฟิศซินโดรมนี้ไม่ได้เป็นอาการที่มีอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย แต่สามารถสร้างความรำคาญและก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น เพื่อให้คุณสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงการออฟฟิศซินโดรมได้ ในบทความนี้เราจึงจะพาคุณมาทำความรู้จักกับอาการออฟฟิศซินโดรมให้มากขึ้น พร้อมแนะนำวิธีรักษาและป้องกันแบบครบครัน

ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร? มีลักษณะอาการยังไงบ้าง?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนทำงานออฟฟิศ จากการนั่งทำงานในสภาพแวดล้อมและท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่ถูกใช้งานอย่างหนัก เช่น ดวงตา กระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยสามารถแบ่งลักษณะอาการปวดได้ทั้งหมด 3 ลักษณะ ดังนี้

  • การปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก เป็นต้น มักจะมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดร้าว ปวดล้า ๆ ในบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย
  • อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อาการวูบ เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออก เย็น ซ่าบริเวณที่ปวด เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่าได้อีกด้วย
  • อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ อาการอ่อนแรง เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

อาการออฟฟิศซินโดรมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ มีดังนี้

  • นั่งทำงานท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ก้มหน้า หรือก้มคอ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดคอ และปวดไหล่ เพราะเป็นการซ้ำเติมการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อบริเวณนั้น ๆ
  • สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งเรื่องความสะอาด คุณภาพอากาศ แสงสว่าง เสียงรบกวน รวมถึงอุปกรณ์สำนักงานที่ไม่เหมาะสม เช่น เก้าอี้นั่งทำงานที่ไม่ถูกหลักการยศาสตร์และสรีรศาสตร์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สว่างหรือมืดเกินไป ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดออฟฟิศซินโดรมได้
  • ความเครียด ความกดดัน และความวิตกกังวลจากการทำงาน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม เพราะนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังอาจแสดงอาการทางกายออกมาด้วย เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร เป็นต้น

2. ระดับความรุนแรงของอาการออฟฟิศซินโดรมมีกี่ระดับ_ แล้วเมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

ระดับความรุนแรงของอาการออฟฟิศซินโดรมมีกี่ระดับ? แล้วเมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?

ระดับความรุนแรงของอาการออฟฟิศซินโดรม สามารถแบ่งได้ทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่

  • ระยะเริ่มต้น มักจะมีอาการปวดเมื่อย ตึง ล้าขณะทำงานหรือหลังทำงาน เมื่อได้ยืดเส้นยืดสาย เปลี่ยนอิริยาบถ หรือได้พักอาการจะดีขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษาหรือแก้ไขอย่างถูกวิธีก็จะทำให้เกิดอาการแบบเรื้อรังได้
  • ระยะเรื้อรัง มีอาการเหมือนระยะเริ่มต้น แต่เป็นบ่อย เปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งอาการปวดยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น
  • ระยะรุนแรง มักจะมีอาการปวดแทบตลอดเวลา อีกทั้งยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชา อ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็งตัว ตาพร่ามัว เวียนศีรษะ ไมเกรน คลื่นไส้ เป็นต้น จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะนี้ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

วิธีป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม

การมองหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม นับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทำงานที่ยังไม่มีอาการออฟฟิศซินโดรม หรือมีอาการไม่รุนแรงนัก โดยวิธีป้องกันมีดังนี้

1. ปรับท่านั่งและอุปกรณ์สำนักงานให้เหมาะสม

ควรจัดท่านั่งทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์และสรีรศาสตร์ เช่น หลังตรง ไหล่ผ่อนคลาย แขนแนบลำตัว และมีที่พักเท้า ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในแนวสายตา และเลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่เหมาะกับสรีระและลักษณะงาน

2. ออกกำลังกายและยืดเส้นยืดสายระหว่างทำงาน

การออกกำลังกายและยืดเส้นยืดสายระหว่างทำงานทุก ๆ 1 ชั่วโมง จะช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ป้องกันการเกิดอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ และยังช่วยให้ร่างกายมีความยืดหยุ่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้นด้วย

3. หาวิธีผ่อนคลายความเครียด

การจัดการความเครียดจากการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจหาวิธีผ่อนคลายที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ฝึกสมาธิ นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง หรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เพื่อลดความตึงเครียดทางอารมณ์

3. วิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

วิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

เนื่องจากอาการออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมในการทำงานของผู้ป่วย ดังนั้น ในการรักษาจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และตัวผู้ป่วยเอง วิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมโดยส่วนใหญ่ จึงเป็นการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมของตัวผู้ป่วย

การยืดกล้ามเนื้อด้วยวิธีที่ถูกต้องด้วยตัวเอง

การยืดกล้ามเนื้อ เป็นวิธีรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยตัวเองที่มีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้เอ็นข้อต่อและกล้ามเนื้อได้รับการยืดเหยียด มีมุมความยาวและการเคลื่อนไหวที่ดี ทำให้สามารถป้องกันการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ รวมถึงลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยแนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง

การนวดแผนไทย

การนวดแผนไทย เป็นการนวดคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่มีการแข็งหรือเกร็งตัว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลงได้แล้ว ยังช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก และยังสามารถขจัดของเสียที่ตกค้างอยู่ตามกล้ามเนื้อได้อีกด้วย

ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นการปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย, การปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา, การเลือกใช้เมาส์หรือคีย์บอร์ดที่ถูกออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์, การปรับแสงสว่างบริเวณโต๊ะทำงานให้เหมาะสม, การจัดระเบียบเวลาทำงานและการพักผ่อน

4.การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy)

การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy)

การรักษาด้วยคลื่นกระแทก หรือ Shockwave Therapy เป็นเทคโนโลยีทางกายภาพบำบัดที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเป็นวิธีที่เห็นผลลัพธ์รวดเร็ว และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยจะเป็นการรักษาด้วยการส่งคลื่นกระแทกไปยังบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บใหม่และซ่อมแซม รวมถึงสร้างเนื้อเยื่อในจุดนั้น

การรักษาด้วยยา

การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยยา เป็นวิธีที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และต้องใช้ยาในการบรรเทาอาการปวด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและดุลยพินิจของแพทย์เสมอ

ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกาย เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยแก้อาการออฟฟิศซินโดรมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี

สรุปบทความ

อาการออฟฟิศซินโดรมนับว่าเป็นอาการที่คนทำงานเกือบทุกคนต้องพบเจอ ซึ่งแม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น ทางที่ดีจึงควรปรับพฤติกรรมการทำงาน ทั้งท่านั่ง การจัดโต๊ะทำงาน การจัดเวลาในการทำงาน และการดูแลสุขภาพให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม