ชาปลายมือปลายเท้า อาการชาที่บริเวณมือและเท้า รวมถึงบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เป็นอาการที่ใครหลายคนอาจเคยประสบพบเจอมาก่อน ซึ่งรู้หรือไม่ว่าอาการชาเหล่านี้ อาจเป็นอาการที่กำลังบ่งบอกหรือเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง หากคุณเคยมีอาการชาเกิดขึ้นหรือมีอาการชาที่บริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอยู่บ่อยครั้ง บทความนี้จะเป็นบทความที่ทำให้คุณเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ รวมถึงรู้เท่าทันก่อนที่อาการเหล่านี้จะนำไปสู่อันตราย เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
อาการชา เกิดจากอะไร
อาการมือชาเท้าชาเกิดจากอะไร? ลักษณะของอาการชาที่เกิดขึ้นนั้น จะมีลักษณะอาการที่อาจเป็นได้ทั้งการสูญเสียความรู้สึก มีความรู้สึกถึงว่าผิวหนังหนาเป็นปื้น ๆ หรืออาจมีอาการว่ายิบ ๆ ซ่า ๆ เหมือนมีเข็มมาทิ่ม รู้สึกปวดแสบปวดร้อน มีความเสียวคล้ายไฟช็อต ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนี้อาจเกิดขึ้นจากอาการของโรคหรือเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดโรค อาทิเช่น โรคขาดวิตามินและโรคเบาหวาน เป็นต้น
อาการชา มีกี่แบบ
ในความเป็นจริงแล้ว อาการชา เป็นอาการที่อาจมีหลายสาเหตุการเกิดด้วยกัน ซึ่งสามารถที่จะแยกออกได้ตามตำแหน่งที่เกิดอาการชาเป็นหลัก โดยสามารถที่จะแบ่งออกเป็น 5 แบบ ตามตำแหน่งการชาได้ดังนี้
ชาปลายมือปลายเท้า
ชาปลายเท้าเกิดจากอะไร อาการชาปลายมือปลายเท้าเป็นความรู้สึกผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณปลายนิ้วมือ ฝ่ามือ นิ้วเท้า หรือฝ่าเท้า โดยมักมีลักษณะเป็นความรู้สึกเสียวซ่า ชา หรือเหน็บชา ราวกับมีเข็มทิ่มแทง หรือมีมดไต่อยู่บนผิวหนัง บางครั้งอาจรู้สึกเย็นหรือร้อนผิดปกติ หรือมีอาการปวดร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของมือและเท้าในชีวิตประจำวัน เช่น การหยิบจับสิ่งของ การเดิน หรือการทรงตัว สาเหตุของอาการชาปลายมือปลายเท้ามีหลายประการ เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาท โรคเบาหวาน การขาดวิตามินB12 หรือภาวะการไหลเวียนเลือดผิดปกติ
ชาข้างเดียว
อาการชาครึ่งซีกที่บริเวณใบหน้า แขน ขาหรือชาข้างเดียว แล้วเท้าชาข้างเดียว เกิดจากอะไรกันแน่ เช่น อาการชาด้านหน้าซ้ายและแขนซ้าย หรืออาการชาที่บริเวณแขนขวาและขาขวา อาจเป็นอาการที่อาจต้องระวังถึงสาเหตุจากในสมอง หากอาการชาที่เกิดขึ้นนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน มักเป็นอาการที่มีสาเหตุการเกิดมาจากเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก แต่ในกรณีที่อาการค่อย ๆ เกิด อย่างช้า ๆ แบบใช้เวลานาน มักมีสาเหตุอาการมาจากสาเหตุอื่น อาทิเช่น สมองอักเสบ, ติดเชื้อ หรือเกิดจากเนื้องอกในสมอง เป็นต้น
ชาทั้งสองข้าง
หากมีอาการที่ไม่ได้ชาเพียงครึ่งซีก แต่รู้สึกได้ถึงการชาทั้งสองฝั่ง โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากเส้นประสาทส่วนปลาย โดยมักเกิดอาการชาที่มือ, แขน และขา ทั้งสองข้างอย่างเท่าๆ กัน อาจเกิดจากโรคบางอย่าง อาทิเช่น โรคเบาหวาน, ภาวะไทรอยด์ต่ำ, ภาวะขาดวิตามิน หรืออาจเกิดขึ้นจากยาหรือสารพิษ เช่น พิษจากแอลกอฮอล์เรื้อรัง, การสูบบุหรี่, ผลข้างเคียงของยาบางชนิด, โรคภูมิแพ้ตัวเอง เช่น SLE หรือโรคพันธุกรรมบางอย่าง หากมีอาการชามานานแล้วอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยได้
ชาเฉพาะจุด
อาการชาตำแหน่งเดียว หรือการชาเฉพาะจุดที่บริเวณตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เป็นกลุ่มอาการที่อาจเกิดจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ ยกตัวอย่างเช่น การชาที่บริเวณมือขวา อาจเกิดขึ้นได้จากโรคพังผืดข้อมือรัดเส้นประสาท เป็นโรคที่เกิดจากมีการใช้มือมากจนเกินไป ทำให้พังผืดหนาตัวขึ้นจนไปกดทับที่เส้นประสาทบริเวณข้อมือ และผู้ที่มีนิสัยชอบนั่งไขว่ห้างหรือนั่งขัดสมาธินานๆ ก็อาจทำให้เส้นประสาทขาถูกกดทับและมีอาการชาที่บริเวณขาได้เช่นเดียวกัน
ชาจากกระดูกต้นคอ
กระดูกคอและกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการชาที่บริเวณกระดูกต้นคอได้ ซึ่งการชาที่เกิดขึ้น จะมีลักษณะอาการที่ชาตามแนวเส้นประสาทที่ออกมาจากกระดูกต้นคอและหลังที่มีปัญหา
- ชาทั้งแถบ ตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ
- ชาทั้งเท่า เลยไปจนถึงสะโพก (อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท)
โรคปลายประสาทอักเสบจากอาการชา อันตรายแค่ไหน
ลักษณะอาการของโรคปลายประสาทอักเสบนั้น อาจขึ้นอยู่กับเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ
- เส้นประสาทคู่ที่ 3, 4 หรือ 6 : อาจทำให้เกิดภาพซ้อนแนวใดแนวหนึ่ง
- เส้นประสาทคู่ที่ 5 : จะมีอาการปวดเสียวบนใบหน้า มีลักษณะคล้ายกับการถูกไฟช็อต
- เส้นประสาทคู่ที่ 7 : ทำให้มีอาการหน้าเบี้ยว, ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก
- เส้นประสาทคู่ที่ 8 : อาจทำให้สูญเสียการทรงตัว, มีอาการบ้านหมุน และบางรายอาจมีอาการหูแว่วหรือหูดับ
ซึ่งหากเส้นประสาทเกิดความเสียหายจนส่งผลให้เกิดปลายประสาทอักเสบแล้ว อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงได้ อาทิเช่น การติดเชื้อจนทำให้เกิดเนื้อตาย เป็นต้น
รู้หรือไม่ อาการชา อาจเสี่ยงเป็นอัมพาตได้
หากเกิดอาการชา ที่มาจากสาเหตุการใช้งานร่างกายหนัก การใช้ แผ่นประคบร้อนไฟฟ้า เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนโลหิต ควบคู่ไปกับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้อาการที่เกิดจากการใช้งานร่างกายหนักสามารถที่จะหายไปได้ แต่หากการชาที่เกิดขึ้นมีลักษณะชาที่แขน, ขา หรือมีการชาที่บริเวณใบหน้า ร่วมกับมีภาวะอ่อนแรง อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดทางสมอง ซึ่งหากไม่รีบเข้าพบแพทย์อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงเป็นอัมพาต พิการ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
รักษาให้หายจากอาการชาได้อย่างไร
อาการชา ไม่ว่าจะชาปลายมือปลายเท้า ชาข้างเดียวหรือชาทั้งสองข้าง วิธีรักษามือชาเท้าชา สามารถแบ่งออกได้ตามระดับความชา 3 ระดับ ดังนี้
- อาการชาไม่รุนแรง สำหรับระดับที่ยังไม่รุนแรงมาก ส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนั่งกดทับส่วนของร่างกายมากเกินไป เช่น นั่งท่าเทพธิดา เทพบุตรนานจนเกินไปจนเกิดอาการชามือชาเท้า ขาชา แนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถ หรือท่านั่ง ท่านอนให้รู้สึกสบายขึ้น เพื่อให้อาการชาหายไป นอกจากนี้ ยังสามารถทานอาหารเสริมที่อุดมไปด้วยวิตามิน B ได้อีกด้วย
- อาการชารุนแรง และต่อเนื่อง หากสังเกตตัวเองแล้วว่า อาการชาปลายมือปลายเท้าของตัวเองเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นถี่ ๆ ติดกัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอนใหม่ให้สบายตัวแล้วก็ยังไม่หาย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา และตรวจหาโรคเพิ่มเติม
- อาการชาจากโรค ระดับที่ 3 เป็นอาการชาที่เกิดจากโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะพบอาการเท้าชา โดยจะรู้สึกเจ็บแปลบ ๆ ที่เท้า จนไม่รู้สึกอีกเลย ทำให้เกิดแผลเรื้อรังขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นอาการชาระดับที่อันตรายมากเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง เกาต์ และรูมาตอยด์ เช่นกัน
อาการมือเท้าชา ทานอะไรถึงจะหาย
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า นอกจากโรคประจำตัวแล้ว ยังรวมไปถึงอาหารการกินอีกด้วย หากขาดวิตามินที่สำคัญ หรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทั้งนี้สามารถเสริมวิตามินเหล่านี้เข้าไป เพื่อป้องกันอาการมือเท้าชาได้ ดังนี้
- วิตามิน B1 ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างการทำงานและบำรุงระบบประสาท สามารถพบได้ใน ถั่ว ธัญพืช ข้าวกล้อง หรือข้าวโอ๊ต เป็นต้น
- วิตามิน B6 มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย ให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย สามารถพบได้ใน เนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่ หรือตับ รวมทั้งมันฝรั่ง กล้วย แตงโม และไข่แดง เป็นต้น
- วิตามิน B12 มีส่วนเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง สามารถพบได้ใน เนื้อแดง และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น
- สารต้านอนุมูลอิสระ สามารถพบได้ในผลไม้ อาทิ ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม มะละกอสุก คะน้า บรอกโคลี เป็นต้น
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ยับยั้งการดูดซึมวิตามิน B1 และสารอาหารอื่น ๆ
สรุปบทความเกี่ยวกับอาการชาปลายมือปลายเท้า
สำหรับผู้ที่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นหรือรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายตนเอง เพื่อความปลอดภัยควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง หากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย จะทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาตามแนวทางการรักษาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที หากรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นห้ามปล่อยเอาไว้เด็ดขาด