รู้ทันภัยเงียบใกล้ตัว ปวดคอแบบไหนอันตราย มีวิธีรักษาและป้องกันยังไง

1. สาเหตุของอาการปวดคอ

อาการปวดคอ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดคอที่คนส่วนใหญ่เป็นมักจะสามารถหายได้เองและไม่เป็นอันตรายเท่าไหร่นัก แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปวดคอนั้นมีหลายรูปแบบและอาจบ่งบอกถึงโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้น เพื่อให้คุณรู้ทันอาการปวดคอและสามารถหาวิธีรักษาที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ในบทความนี้เราจึงจะพาคุณมาทำความรู้จักกับอาการปวดคอให้มากขึ้น แล้วสาเหตุของอาการปวดคอมาจากอะไร? แบบไหนถือว่าอันตราย? แล้วมีวิธีรักษายังไงบ้าง? ไปหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย

สาเหตุของอาการปวดคอ

อาการปวดคอสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • อิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหรือนอนผิดท่า การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย หรือขยับกล้ามเนื้อ 
  • เกิดการกดทับเส้นประสาทบริเวณคอ มักพบในวัยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่กระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมและขาดความยืดหยุ่น จนส่งผลให้กระดูกแยกออกมาทับบริเวณเส้นประสาท และเกิดอาการปวดคอ บ่า ร้าวไปจนถึงไหล แขน หรือนิ้วมือได้
  • ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม มักพบในวัยผู้สูงอายุ เกิดจากกระดูก หมอนรองกระดูกข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลังเสื่อมสภาพ ทำให้กระดูกสันหลังขาดความยืดหยุ่น และหากกระดูกสันหลังคอส่วนนั้นอยู่ใกล้กับเส้นประสาท ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดคอได้
  • การติดเชื้อ บริเวณกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณ จนไปกดทับเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการปวดคอและปวดศีรษะได้
  • มีประวัติบาดเจ็บบริเวณคอ ทำให้เกิดอาการปวดคอเรื้อรัง หมอนรองกระดูกแตกหรือเคลื่อนที่ทับเส้นประสาทได้
  • เกิดอุบัติเหตุบริเวณคอ ทำให้คอเกิดการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จนเอ็นหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด ปวด และหดเกร็งจนเคลื่อนไหวไม่ถนัด
  • ภาวะเครียดทางจิตใจ ความเครียดเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็งนานผิดปกติ จนเกิดอาการปวดบริเวณคอ ศีรษะ และท้ายทอยได้

2.อาการปวดคอมีลักษณะแบบไหนบ้าง

อาการปวดคอมีลักษณะแบบไหนบ้าง?

  • มีอาการปวดร้าวลงมาตามบ่า ไหล่ แขน มือ หรือสะบักข้างใดข้างหนึ่ง
  • อาจมีอาการชาตามแขนหรือนิ้วมือร่วมด้วย
  • เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง รู้สึกตึง ปวด หรือขัด ๆ เมื่อเคลื่อนไหวจนสุด
  • กล้ามเนื้อต้นคอมีอาการแข็งเกร็ง หรือมีจุดกดเจ็บบริเวณท้ายทาย ต้นคอ บ่า
  • มีอาการปวดศีรษะตื้อ ๆ

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการปวดคอ

  • หลีกเลี่ยงการนอนหนุนหมอนสูงเกินไป หรือหนุนในลักษณะที่ผิดแนวของกระดูก เช่น นอนพาดโซฟา นอนคว่ำ
  • ไม่สะบัดต้นคอแรง ๆ หรือหมุนคอเร็ว ๆ
  • ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นประมาณ 15 นาที หรือใช้แผ่นแปะแก้ปวดบริเวณต้นคอ
  • หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ ควรจะพักและลุกเดินเพื่อยืดเส้นยืดสาย และลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ
  • ปรับตำแหน่งเครื่องใช้สำนักงานให้เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์และสรีรศาสตร์
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน เป็นต้น

3. รูปแบบของอาการปวดคอ ปวดแบบไหนถือว่าเป็นอันตราย

รูปแบบของอาการปวดคอ ปวดแบบไหนถือว่าเป็นอันตราย?

เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า อาการปวดคอนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีลักษณะอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ ดังนี้

  • อาการปวดคอเพียงอย่างเดียว โดยจะมีอาการปวดตั้งแต่บริเวณคอไล่มาถึงบริเวณบ่า ไหล่ แขน มือ หรือสะบัก เป็นรูปแบบที่ไม่มีความอันตรายและสามารถหายจากอาการปวดคอได้แม้ไม่ได้เข้าพบแพทย์ แต่ทางที่ดีก็ควรจะเข้ามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยภาวะออฟฟิศซินโดรม หรือหมอนรองกระดูกเสื่อมจะดีกว่า
  • ปวดเพราะมีการกดทับเส้นประสาท โดยจะมีอาการปวดร้าวและชาลงแขนไปถึงมือ บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดคอรูปแบบนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด
  • ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง ซึ่งอาการปวดคอรูปแบบนี้จะไม่แสดงอาการชัดเจน โดยผู้ป่วยอาจมีประวัติปวดคอ ลงไปถึงแขนและขาแบบเรื้อรัง บางรายอาจมีอาการชาและอ่อนแรง ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของเล็ก ๆ ได้ สูญเสียการทรงตัว มีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมระบบขับถ่าย โดยอาการนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

อาการปวดคอแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

ในกรณีที่มีอาการปวดคอ บ่า และไหล่เป็นเวลานานผิดปกติ หรือเกิน 2 สัปดาห์ ดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้วอาการก็ไม่เบาลง ควรจะรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดบริเวณคอในทันที นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จากลักษณะอาการดังนี้

  • ปวดร้าวลงบ่า หัวไหล่ แขน มือ และสะบัก เช่น มีอาการชาบริเวณแขนหรือมือ การรับความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป มีอาการคล้ายไฟฟ้าช็อตเมื่อหันศีรษะ เป็นต้น
  • มีอาการกล้ามเนื้อแขน ขาอ่อนแรง หรือเกร็งผิดปกติ
  • เคลื่อนไหวคอได้น้อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บรุนแรงเวลาขยับร่วมด้วย
  • คอผิดรูป เช่น คอเอียง ก้มผิดรูป คลำเจอก้อนบริเวณคอ เป็นต้น
  • มีอาการไข้สูง กดเจ็บร่วมกับอาการปวดคออย่างรุนแรง
  • มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณคอโดยตรง หรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของคออย่างรุนแรง แล้วตามมาด้วยอาการปวดคอ มือและแขนมีอาการชาหรืออ่อนแรง เป็นต้น
  • มีอาการปวดทั่วแผ่นหลัง หรือปวดบริเวณเอว หลังช่วงล่าง ยาวลงไปถึงขา
  • มีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ มากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป

4.วิธีรักษาอาการปวดคอ

วิธีรักษาอาการปวดคอ

สำหรับวิธีรักษาอาการปวดคอ มีทั้งวิธีที่ต้องดำเนินการโดยแพทย์เท่านั้น และวิธีสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อบรรเทาอาการและลดความรุนแรงของอาการปวดในเบื้องต้น

1. การบริหารต้นคอ และยืดกล้ามเนื้อ

สำหรับวิธีรักษาอาการปวดคอวิธีแรก เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของคอ และเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อต้นคอมีแรงพยุงข้อต่อคอได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการกดทับเส้นประสาท อีกทั้งยังช่วยยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อให้ดีขึ้น ดังนี้

  • ก้มและเงยศีรษะช้า ๆ แล้วกลับมาหน้าตรง ทำต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง
  • หน้ามองตรง เอียงคอไปด้านข้าง ให้หูแนบกับไหล่มากที่สุด ทำสลับซ้าย-ขวาอย่างน้อย 10 ครั้ง
  • หน้ามองตรง ค่อย ๆ หันหน้าไปทางขวาช้า ๆ ค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที หันหน้ากลับมามองตรง แล้วค่อย ๆ หันหน้าไปทางซ้ายช้า ๆ ทำต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง
  • เกร็งกล้ามเนื้อต้านกันระหว่างมือกับศีรษะโดยไม่มีการเคลื่อนไหว ค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที
  • ยืดกล้ามเนื้อต้นคอ-บ่าด้วยการก้มศีรษะ แล้วนำมือประสานไว้ด้านหลังศีรษะ กดค้างไว้ 10 วินาทีแล้วค่อย ๆ ผ่อนแรงกด ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
  • ยืดกล้ามเนื้อสะบัก ด้วยการยกแขนข้างที่ต้องการยืดไปแตะสะบักด้านตรงข้าม ใช้มืออีกข้างออกแรงดันบริเวณข้อศอกไปด้านตรงข้าม ทำต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง

2. การรักษาด้วยยา

การรักษาอาการปวดคอด้วยยา ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยแพทย์จะทำการประเมินความรุนแรงของอาการและจ่ายยาที่เหมาะสมให้ ในบางครั้งอาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ หรือยาชาเข้าไปในตำแหน่งใกล้รากประสาท ซึ่งอยู่ตรงกับกระดูกสันหลัง หรือฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดคอให้หายไวขึ้น

3. การผ่าตัด

การผ่าตัด เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการรากประสาทหรือไขสันหลังถูกกดทับได้อย่างตรงจุด โดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และกรณีอื่น ๆ ที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น

5. 4. การประคบเย็น

4. การประคบเย็น

การประคบเย็น จะช่วยบรรเทาอาการปวดคอที่เกิดจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการบวม แดง ร้อน โดยแนะนำให้ใช้เจลประคบเย็น หรือถุงใส่น้ำแข็งห่อด้วยผ้าแห้ง มาใช้ในการประคบบริเวณที่ปวด ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้ความเย็นแผ่ลงกล้ามเนื้อ โดยสามารถทำซ้ำได้ทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น

5. การประคบอุ่น

การประคบอุ่นจะช่วยลดอาการปวดคอได้เป็นอย่างดี โดยสามารถใช้แผ่นแปะแก้ปวด หรือผ้าชุบน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิไม่สูงจนเกินไปในการประคบ และประคบเพียงครั้งละ 10-15 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเกิดการไหม้ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาก็สามารถใช้วิธีอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนได้เช่นกัน

สรุปบทความ

แม้ว่าอาการปวดคอจะดูเป็นอาการที่ไม่ได้มีความรุนแรง และสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย แต่หากมีอาการร่วมอื่น ๆ หรือเป็นต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มอย่างละเอียดในทันที เพราะอาจปล่อยไว้โดยไม่รักษา จากอาการปวดคอทั่วไปก็อาจจะกลายเป็นอาการหรือโรคที่มีความรุนแรงและอันตรายได้