เมื่อพูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain or Myalgia) เชื่อว่าคงจะมีคนไม่น้อยที่เข้าใจว่าเป็นอาการทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย ก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้ออักเสบทั่วตัวที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อให้คุณรู้จักและเข้าใจอาการนี้มากขึ้น เราไปดูกันดีกว่าว่า อาการปวดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ มีสาเหตุมาจากอะไร? มีวิธีรักษายังไง? แล้วเมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
อาการปวดกล้ามเนื้อมีลักษณะแบบไหนบ้าง?
อาการปวดกล้ามเนื้อ สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายลักษณะ เช่น
- ปวดมากจนขยับร่างการส่วนนั้นไม่ได้เลย
- ปวดหนัก ๆ บริเวณนั้น
- ปวดเมื่อยล้าได้ง่าย
- ปวดตึง
- ปวดหรือเสียวแปล๊บเมื่อเอื้อมแขน หรือยกแขนในบางอิริยาบถ
- ปวดเมื่อเอี้ยวตัว
- ปวดระบมกล้ามเนื้อ
- เป็นตะคริวบ่อย ๆ
- กล้ามเนื้อหดเกร็ง
- ปวดตามข้อ
สาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ
นอกจาอาการปวดกล้ามเนื้อจะมีหลายลักษณะแล้ว สาเหตุของการเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อยังสามารถเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- การติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย โรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเหล่านี้ อาจทำให้รู้สึกปวดเมื่อย พร้อมกับมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือต่อมน้ำเหลืองโตได้
- อาการบาดเจ็บจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อบริเวณช่องท้อง หรือกล้ามเนื้อบริเวณหลังมีการเคล็ด เกร็ง จนกลายเป็นโรคปวดพังผืด เส้นเอ็นอักเสบ หรือเกิดอาการเอ็นเสื่อมตามมาได้
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Neuromuscular Disorders) เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากไขสันหลังเสื่อม (Spinal MUscular Atrophy) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงดูเชนน์ (Duchenne Muscular Dystrophy) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis)
- ภาวะหรือโรคบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อยึดตึง เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โรคกระดูกก้านคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท
- ภาวะความเครียด ทั้งความเครียดทางร่างกายและจิตใจ
- การใช้ยาและการบำบัด เช่น ยาลดระดับคอเลสเตอรอลกลุ่มยาสแตติน (Statins) ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE Inhibitors การรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาด้วยรังสีบำบัด เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อชั่วคราวหรือในระยะยาวได้
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา ซึ่งสามารถแบ่งได้หลากหลายวิธี ดังนี้
1. การทำกายภาพบำบัด
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อสามารถบรรเทาและรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปกับวิธีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำกายบริหารเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องกระตุ้นปลายประสาทพื้นผิว เป็นต้น ซึ่งการทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บหรืออักเสบให้ดีขึ้นได้
2. การใช้ยา
อาการปวดกล้ามเนื้อสามารถรักษาและบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยารับประทาน โดยจะเป็นการใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบและอาการปวดกล้ามเนื้อได้ ทั้งนี้ การใช้ยารับประทานในการรักษา ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
3. การรักษาจุดกดเจ็บ
เป็นการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อที่จุดปวดโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาชาเฉพาะที่ การฉีดสเปรย์ยาชา หรือการฝังเข็มรักษาอาการปวด ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อด้วยการนวดกดจุด หรือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพและความแข็งแรง คงทนของกล้ามเนื้อ
4. การรักษาด้วยตนเอง
สำหรับคนที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อในเบื้องต้น สามารถรักษาและบรรเทาอาการปวดได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- ประคบร้อนประมาณ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
- ติดแผ่นแปะแก้ปวดบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย
- ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อกลุ่มที่มีปัญหา โดยให้ยืดออกช้า ๆ ค้างไว้อย่างน้อย 15 นาที
- พักหรือหลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด
- ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยท่าทางที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
5. ประคบเย็น-ร้อน
การประคบเย็น จะช่วยบรรเทากล้ามเนื้อที่เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการบวม แดง ร้อน โดยแนะนำให้ใช้เจลประคบเย็น หรือถุงใส่น้ำแข็งห่อด้วยผ้าแห้ง มาใช้ในการประคบบริเวณที่ปวด ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้ความเย็นแผ่ลงกล้ามเนื้อ โดยสามารถทำซ้ำได้ทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
จากนั้นเมื่ออาการบวม แดง ร้อนเริ่มดีขึ้น ก็สามารถประคบอุ่น เพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยสามารถใช้แผ่นแปะแก้ปวด หรือผ้าชุบน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิไม่สูงจนเกินไปในการประคบ และประคบเพียงครั้งละ 10-15 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเกิดการไหม้ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาก็สามารถใช้วิธีอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนได้เช่นกัน
อาการปวดกล้ามเนื้อแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
ในกรณีที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมกับมีไข้ เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อชา/อ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือมีอาการปวดกล้ามเนื้อมากกว่าเดิม ควรรีบไปแพทย์ในทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้ออักเสบทั่วตัว ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดกล้ามเนื้อ
ในกรณีที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการรุนแรงและเรื้อรัง แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอาการปวดกล้ามเนื้อเพิ่มเติมด้วยวิธีดังนี้
- การตรวจเลือด เพื่อประเมินระดับเอนไซม์ ฮอร์โมน และเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อในกระแสเลือด
- การทำ MRI หรือ CT Scan เพื่อดูโครงสร้างของเนื้อเยื่อ และหาบริเวณที่กล้ามเนื้อถูกทำลายอย่างแม่นยำ
- การตรวจ Electromyography (EMG) เพื่อวัดสัญญาณไฟฟ้าและประเมินการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยหากล้ามเนื้อที่ถูกทำลาย หรืออ่อนแอจากการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบได้แม่นยำ
- การเก็บตัวอย่างกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะหากล้ามเนื้อบริเวณที่อ่อนแอ แล้วทำการผ่าตัดเพื่อส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของการบาดเจ็บหรืออักเสบ แต่เป็นวิธีที่ทำได้ยากและต้องมีการตรวจสอบกล้ามเนื้ออย่างละเอียด
สรุปบทความ
เนื่องจากอาการปวดกล้ามเนื้อเป็นอาการที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้หลาย ๆ คนไม่ทันสังเกตหรือเล็งเห็นถึงความอันตรายของอาการนี้ และละเลยการเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย แต่หากมีอาการบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีอาการร่วมอื่น ๆ ตามที่เราได้กล่าวไปข้างต้น แนะนำว่าควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด