อย่ามองข้าม ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่พบบ่อย

อย่ามองข้าม ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุที่พบบ่อย

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุอดปฏิเสธไม่ได้เลยว่าร่างกายย่อมเสื่อมลงตามไปด้วย เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายและสุขภาพทางจิตใจในแต่ละคนที่ต่างกันออกไป ในหลาย ๆ ครั้งที่ผู้ดูแลต่างมาปรึกษาเราถึงวิธีการปรับตัวอยู่กับผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมและสุขภาพเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เช่น มีระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังมีความเครียด  ความวิตกกังวล และโรคซึมเศร้าที่แอบแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว นับเป็นปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุที่พบบ่อยในปัจจุบัน

ในบทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจกันว่าปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง? ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร? และมีวิธีการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง? ติดตามกันได้เลย

สาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ

ก่อนจะรู้ถึงปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุมีอะไรบ้างนั้น มาศึกษาถึงสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุนี้กันว่าเกิดจากสาเหตุอะไร? โดยหลัก ๆ แล้วมักเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ 

  • การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย : เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง จากที่ร่างกายมีสมรรถภาพในด้านต่าง ๆ ที่ดี กลับกลายเป็นว่ามีข้อจำกัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ความทรงจำลบเลือน จากที่ไม่เคยต้องพึ่งพาใครก็ต้องมาพึ่งพาให้ลูกหลานช่วยดูแล การได้ยินลดลง และสายตาแย่ลง เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ : โดยส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุจะมีอารมณ์แปรปรวน มีอาการซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล หงุดหงิดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนไป รวมไปถึงอาจเกิดจากความเหงาอยากได้คนมาพูดคุยปรึกษาหารือด้วย 
  • การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม : ในหลาย ๆ ท่านเคยมีบทบาททางสังคมมากกว่านี้ การที่มีบทบาททางสังคมลดลงทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองโดนทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเคารพนับถือ สูญเสียความมั่นใจในชีวิต ไม่ภูมิใจในตัวเองเหมือนเมื่อก่อน และคิดว่าตนเองเป็นภาระ จนทำให้เกิดความเครียด และกลายเป็นซึมเศร้าได้

ภาวะความเจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย : หรือป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเบื่อหน่าย ต้องเจ็บตัวอยู่ตลอด กังวลกับค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ท้อแท้ เพราะรักษาก็ไม่หายจนทำให้หลาย ๆ ท่านเกิดอาการทรุดหนัก และมีความเครียดสะสมมากยิ่งขึ้น

ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุมีอะไรบ้างที่พบบ่อย

ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุมีอะไรบ้างที่พบบ่อย

ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุมีอะไรบ้างที่พบได้บ่อย? จริง ๆ แล้วอาจเป็นปัญหาที่หลาย ๆ ท่านไม่คาดคิด แต่ผู้สูงอายุที่คุณดูแลกำลังมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ ควรหมั่นสังเกตและหากพบความผิดปกติควรรีบหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ มีดังนี้

1. วิตกกังวล

พฤติกรรมของผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีความวิตกกังวลง่าย มักเกิดจากความเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูกหลาย ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ มีความคิดกังวลกลัวตาย รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระครอบครัว และไม่มีคุณค่า หากปล่อยให้ความวิตกกังวลนี้เป็นปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุไปนาน ๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุได้ด้วยเช่นกัน

2. เครียดง่าย

ผู้สูงอายุจะต้องมีการปรับตัวกับสิ่งรอบข้างใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ร่างกายที่มีสุขภาพไม่ดีดังเดิม รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรงง่าย รวมถึงการเผชิญกับความสูญเสียของคนรอบตัว ส่งผลทำให้เกิดความเครียด โดยมักจะแสดงอาการดังต่อไปนี้ออกมา

  • นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • รับประทานอาหารน้อยหรือมากเกินไป
  • ชาตามปลายมือปลายเท้า
  • ผิวแห้ง ผิวหนังเย็น

3. อาการซึมเศร้า

อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุที่พบบ่อย คือ อาการซึมเศร้า รู้สึกเบื่อหน่าย มองโลกในแง่ร้าย ชอบอยู่คนเดียว เงียบเก็บตัว ไม่มีความหวังในชีวิต รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เอาแต่ใจตนเอง หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน และน้อยใจง่าย เป็นต้น จนทำให้เกิดอาการทางร่างกายที่กระทบต่อสุขภาพ เช่น ไม่อยากอาหาร ร่างกายซูบผอม ไม่สดชื่น มีความเศร้า ในบางรายอาจคิดทำร้ายตนเองซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายเลยก็มี

4. โรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์

โรคนี้ถือเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเช่นกัน จะสังเกตได้จากการดำเนินชีวิตที่ค่อย ๆ มีการดำเนินของโรคไปอย่างช้า ๆ เริ่มจากสูญเสียความทรงจำในระยะสั้น หากปล่อยละเลยไปในผู้ป่วยร้อยละ 90 จะเกิดอาการทางจิตเวชร่วมด้วยจนเป็นปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ อีกทั้งเมื่อวันเวลาผ่านไปก็จะยิ่งหลงลืมมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งหลงลืมการใช้ชีวิตประจำวันไปในที่สุด ซึ่งโรคนี้จะมักมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้

  • จำไม่ได้เลยว่าเคยมีเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น 
  • ลืมแล้วลืมเลย ค่อย ๆ ลืมจากความจำระยะสั้น และค่อย ๆ หลงลืมความทรงจำระยะยาวไปในที่สุด
  • ลืมชื่อคนในครอบครัว และอาจลืมลูกหลาน จนจำใครไม่ได้เลย
  • สับสนเรื่องเวลา 
  • ไม่สนใจดูแลความสะอาดตนเอง จนกระทั่งลืมวิธีการใช้ชีวิต เช่น ลืมวิธีการเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
  • ร้องไห้ไม่มีเหตุผล

5. นอนไม่หลับ

เราอาจเคยได้ยินกันบ่อยครั้งว่า ผู้สูงอายุมักเผชิญกับปัญหาการนอนไม่หลับ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากปัญหาความวิตกกังวล เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาในชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว และการต้องย้ายที่อยู่ เป็นต้น อีกทั้งในเรื่องของอายุนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ซึ่งพบว่าในวัยผู้สูงอายุจะมีโอกาสนอนไม่หลับสูงกว่าปกติได้เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกายนั่นเอง

วิธีการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ

วิธีการดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ๆ หลัก ๆ เลย ควรเน้นเรื่องคุณภาพการนอน เพราะการนอนจะช่วยให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมร่างกายได้ดี เพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตผู้สูงอายุที่ดี อีกทั้งยังช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนต่าง ๆ ได้ ช่วยให้ร่างกายได้รับการซ่อมแซมตัวเอง รวมทั้งสมองด้วยเช่นกัน ช่วยให้ความทรงจำที่ดีขึ้น บรรเทาความเครียดและวิตกกังวล ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้ด้วยการปรับสถานที่หลับนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับของผู้สูงอายุยิ่งขึ้น

วิธีการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ

ซึ่งควรใช้เตียงนอนผู้สูงอายุที่รองรับกับสรีระทางร่างกาย อากาศในห้องนอนไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป เงียบสงบ และไม่มีแสงจากภายนอกเข้ามารบกวนการนอนหลับของผู้สูงอายุ เพราะสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุเริ่มต้นได้จากการนอนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีวิธีดูแลผู้สูงอายุอื่น ๆ ที่ควรทำร่วมกันไปด้วยดังนี้

  • หมั่นหากิจกรรมทำร่วมกัน : พยายามหากิจกรรมที่ผู้สูงอายุชอบและมีความสนใจ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยคลายความเครียด รวมถึงเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น
  • ให้เกียรติ : ยอมรับการตัดสินใจ เป็นวิธีที่จะทำให้ท่านรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญอยู่ คอยถามความเป็นอยู่ และชวนคุยเรื่องต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ให้ท่านได้ฟัง
  • คอยติดตามพฤติกรรม : ให้หมั่นสังเกตถึงความผิดปกติ คอยถามเรื่องราวความกังวลใจ ความเครียดของท่านอยู่เสมอ ให้ระบายออกมา พร้อมกับการแนะแนวทางและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
  • ให้ผู้สูงอายุพบปะเพื่อน ๆ : การพบปะเจอผู้คนสนิทหรือคนที่คุ้นเคย จะช่วยทำให้ท่านมีความสุขมากขึ้น ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มีความสุข และหัวเราะได้
  • เข้าวัด ทำบุญ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม : วิธีนี้จะช่วยให้จิตใจของท่านสงบขึ้น ปล่อยวางไม่ยึดติด และคลายความเครียด ความกังวลลงได้
  • ออกกำลังกายเบา ๆ : การออกกำลังกายเป็นวิธีช่วยให้สุขภาพทางด้านร่างกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ดีต่อหัวใจ กล้ามเนื้อ ข้อต่อ รวมไปถึงสุขภาพจิตผู้สูงอายุด้วย

สรุปบทความ

ปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้สูงอายุที่ผู้ดูแลและคนใกล้ชิดควรใส่ใจและสังเกตการเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทันถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ รวมไปถึงควรมีวิธีการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี เพื่อการรักษาที่เหมาะสมสำหรับตัวผู้สูงอายุเอง และช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคต่าง ๆ ได้ 

ที่สำคัญเลยควรใส่ใจดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะในเรื่องการนอน ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากการนอนจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี ที่จะทำให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้นได้นั่นเอง