เปิด 5 สาเหตุหลัก พฤติกรรมใดบ้างที่เสี่ยงเป็นเลือดออกในสมอง

เปิด 5 สาเหตุหลัก พฤติกรรมใดบ้างที่เสี่ยงเป็นเลือดออกในสมอง

ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเลือดออกในสมองไม่ได้มีแค่กลุ่มผู้สูงวัยที่น้ำหนักเกินอีกต่อไป เนื่องด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันบังคับให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ และต้องพบเจอกับความเครียดอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้าสะสม ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเลือดออกในสมองเท่า ๆ กัน

เลือดออกในสมอง คืออะไร

เลือดออกในสมอง หรือที่เรียกกันว่าโรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เลือดที่ออกภายในเกิดการสะสมและกดทับบริเวณเนื้อเยื่อสมอง ส่งผลให้ออกซิเจนไม่สามารถเดินทางไปเลี้ยงสมองได้ เบื้องต้นร่างกายจะแสดงอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว พูดไม่ชัดหรือปากเบี้ยว เป็นต้น

5 สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเลือดออกในสมอง

โดยส่วนใหญ่ ปัญหาเลือดออกในสมองมักมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์และเส้นเลือดภายในร่างกายลดลง นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง ได้แก่

1. ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง เป็นโรคยอดฮิตที่สามารถพบได้ในผู้สูงวัย มีสาเหตุมาจากผนังหลอดเลือดเริ่มหนาขึ้น ทำให้อัตราการไหลเวียนของเลือดช้าลง ในกรณีที่รูของหลอดเลือดตีบตัน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเลือดออกในสมองได้ง่าย 

2. การสูบบุหรี่

พฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นประจำ อาจนำมาสู่โรคร้ายอย่างเส้นเลือดในสมองเสื่อม หรือเส้นเลือดในสมองโป่งพอง เมื่อเส้นเลือดบริเวณสมองเกิดความเสียหาย ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เลือดออกในสมองนั่นเอง

3. โรคเบาหวาน

เบาหวานเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงทำให้ตรวจพบน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าคนปกติ ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดภาวะเลือดแข็งตัว เมื่อเลือดจับตัวเป็นก้อนหรือกลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหลอดเลือดสมอง จะส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

4. ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดโดยตรง ทำให้เส้นเลือดแข็งตัวเฉียบพลัน เมื่อเส้นทางการไหลเวียนของเลือดสะดุด จะเข้าสู่ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือภาวะเลือดออกในสมองนั่นเอง

อายุและพันธุกรรม

5. อายุและพันธุกรรม

อายุและพันธุกรรม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเลือดออกในสมอง แน่นอนว่าผู้สูงวัยมักมีความเสี่ยงมากกว่าวัยรุ่นแน่นอน แต่ไม่เพียงแต่อายุที่มากขึ้นเท่านั้น โรคนี้ยังรวมถึงพันธุกรรมอีกด้วย ถ้าหากมีคนในครอบครัวมีประวัติการป่วยเป็นโรคนี้  ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ เพศไหน ต่างก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

อาการเลือดออกในสมอง

เลือดออกในสมองจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เลือดออกภายใน เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งชา ตาพร่ามัว กลืนลำบาก แขนหรือขาอ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว พูดติดอ่าง หรือมีอาการชัก เป็นต้น หากพบความผิดปกติดังกล่าว ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาทันที

แนวทางป้องกันเลือดออกในสมอง

ถึงแม้ความร้ายแรงของภาวะเลือดออกในสมองจะอยู่ในระดับสูง เพราะหากเข้ารับการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่แนวทางป้องกันไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแก้ที่สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว

ควบคุมระดับความดันให้ปกติ

อย่างที่ทราบกันดี ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง เพราะฉะนั้นแนะนำให้หมั่นตรวจเช็กความดันโลหิตอยู่เสมอ หากไม่สะดวกเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล สามารถเลือกซื้อเครื่องวัดความดันที่มีมาตรฐาน วัดผลง่าย ๆ ด้วยตัวเอง และสามารถจดบันทึกค่าความดันไว้ โดยระดับปกติควรอยู่ที่ 90-119 มม.ปรอท หากเกินกว่า 120 มม.ปรอทขึ้นไป แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา

ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้มีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น งดสูบหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดทุกประเภท หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เพื่อสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรงในระยะยาว 

ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายช่วยเพิ่มความหนาแน่นให้กับกล้ามเนื้อ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเตาเผาของร่างกาย ทำหน้าที่เผาผลาญไขมันได้ดี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดไขมันในเลือดสูง

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ยังทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เป็นอีกหนึ่งแนวทางป้องกันภาวะเลือดออกในสมองที่ถูกต้อง

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 

สรุป

เลือดออกในสมองเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศและวัย แต่ยังรวมไปถึงโรคประจำตัว โรคทางพันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น หากสัมผัสได้ถึงความผิดปกติของตัวเอง หรือสังเกตเห็นความผิดปกติของคนใกล้ชิด ควรรีบไปตรวจเช็กที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถึงแก่ชีวิตได้