ผู้สูงอายุทั่วโลกมากกว่า 30% มีภาวะความดันโลหิตสูง และเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัดของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ สโตรค รวมถึงโรคไตเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ และสมองเสื่อม
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง-ต่ำว่า เพราะประเทศเหล่านี้มีประชากรที่มีภาวะความดันโลหิตสูง 2 ใน 3 ของประเทศ และครึ่งหนึ่งของประชากรเหล่านี้ ไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้พวกเค้าเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง หรืออาจรุนแรงขั้นเสียชีวิตได้
ค่าความดันที่ถูกต้อง มีความจำเป็นสำหรับการรักษาโรคความดันโลหิต
การวัดความดันโลหิตอาจเป็นเรื่องทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน แต่การวัดระดับค่าที่ต่ำกว่าเกณฑ์อาจส่งผลเสียต่อการตัดสินใจในการรักษา 20-45%
Pan American Health Organization จึงได้จัดทำข้อมูลการวัดค่าความดันเพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้อง ไวให้ดังนี้
1. ไม่พูดคุยขณะทำการวัดความดัน
2. วางแขน ในระดับหัวใจ
3. สวมคัฟฟ์ปลอกแขน บนแขนโดยตรง ไม่สวมทับแขนเสื้อ
4. เลือกให้คัฟฟ์ปลอกแขนที่เหมาะสม
5. วางเท้าในตำแหน่งที่เหมาะสม
6. ไม่นั่งไขว่ห้าง
7. เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย ก่อนทำการวัดความดัน
8. นั่งพิงหลังให้ผ่อนคลาย สบาย
หรือทางที่ดี คือ เลือกใช้เครื่องวัดความดันที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องในการวัดค่า
วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนภายใต้ประเด็นรณรงค์ของปี 2564 คือ “Measure Your Blood Pressure Control It, Live Longer: ความดันต้องวัด ควบคุมให้ดี ชีวิยืนยาว” เพื่อให้ประชาชนได้ วัดความดันโลหิตเป็นประจำ และได้ทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง ไปจนถึงการควบคุมระดับความดัน โลหิตให้เหมาะสมอยู่เสมอ
โรคความดันโลหิตสูงกับสถานการณ์โควิด 19
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เนื่องด้วยขณะนี้ เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 ไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่เป็นโรคความดันโรคหิตสูง แต่หากเกิดการติดเชื้อ อาจมี อาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากกว่าคนปกติ และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 73 (ข้อมูลการเสียชีวิต โรคโควิด 19 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2564 โดยศูนย์ข้อมูล covid-19 กรมประชาสัมพันธ์) ดังนั้น ขอเน้นย้ำผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ให้สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมกลุ่ม เว้นระยะห่าง 2 เมตร ล้างมือบ่อย ๆ แยกสำรับอาหาร และของใช้ส่วนตัว รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ควบคุมระดับความดันโลหิตให้เหมาะสมอยู่เสมอ ตรวจเช็คยาความดันโลหิตให้เพียงพอ กรณีอยู่บ้านคนเดียวควรมีเบอร์ติดต่อแพทย์และผู้ให้การช่วยเหลือ หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว การรับกลิ่นหรือรับรสเปลี่ยนไป ผื่นขึ้น ตาแดง ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
สำหรับการรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 นั้น กรณีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ตัวบนมากกว่า 180 มิลลิเมตรปรอท ให้งดการรับวัคซีน และการรับวัคซีนอาจจะทำให้ผู้ป่วยบางรายมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวได้
โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคไม่ติดต่อ ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมสุขภาพ ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ โดยลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มและไม่เติมเครื่องปรุงที่มีรสเค็มเพิ่ม ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่สำคัญจะต้องวัดความดันโลหิตเป็นประจำ เพื่อให้รู้ค่าความดันโลหิตของตัวเอง หากพบว่าค่าความดันผิดปกติ ให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง สามารถโทรศัพท์ สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
Reference:
กรมควบคุมโรค. สคร.12 สงขลา ชวน ปชช.วัดความดันตัวเอง เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก ชี้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากติดเชื้อโควิด 19 เสี่ยงป่วยรุนแรงกว่าคนปกติ. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564 จาก https://ddc.moph.go.th/odpc12/news.php?news=18527&deptcode=odpc12&news_views=1516
Pan American Health Organization. World Hypertension Day – 17 May 2021. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.paho.org/en/events/world-hypertension-day-17-may-2021