การนอนคว่ำหน้าผู้ป่วย Covid จะช่วยเพิ่ม ?

สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นกำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงนี้ เนื่องจากมีเคสผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังพุ่งสูงอยู่ในหลักพันคนต่อวัน และมีเคสผู้ป่วยหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ โดยโรงพยาบาลหลายแห่งได้เริ่มใช้วิธีการดูแลผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจโดยการจัดให้อยู่ในท่านอนคว่ำ เพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น

สำหรับผู้ป่วย COVID ที่มีอาการหนักหรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเนื่องจากมีอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) ได้เริ่มมีงานวิจัยทางการแพทย์ว่าการจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำหน้า (Prone Position) จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่เข้าสู่ปอดซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดและสามารถช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เนื่องจากการนอนคว่ำหน้าจะช่วยเปิดให้บางส่วนของปอดสามารถขยายตัวขึ้นได้ ในขณะที่การนอนหงายจะมีบางส่วนของปอดถูกน้ำหนักตัวกดทับไว้

จากงานวิจัยของนายแพทย์ Kevin Venus ที่ตีพิมพ์ในวารสาร CMAJ ระบุว่า การจัดให้ผู้ป่วย COVID ที่มีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดและไม่ได้มีอาการหนัก อยู่ในท่านอนคว่ำหน้า ผู้ป่วยมีแนวโน้มจะได้รับออกซิเจนที่มากขึ้นและภาวะการหายใจลำบากลดลง อีกทั้งยังระบุว่าการจัดให้ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการหายใจลำบากเฉียบพลันรุนแรงอยู่ในท่านอนคว่ำนั้น มีแนวโน้มจะถูกจัดเป็นวิธีปฎิบัติมาตรฐานทางการแพทย์ในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้การจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำหน้าก็มีข้อควรระวังเช่นกัน จากการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่หมดสติและใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ อาจเกิดความเสี่ยงที่ท่อช่วยหายใจจะหลุดออก โดยหากผู้ดูแลไม่ติดตามอย่างใกล้ชิดอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยได้ ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัว พบว่าความเสี่ยงในจุดนี้จะลดลง เนื่องจากผู้ป่วยยังสามารถสื่อสารและขยับตัวได้ โดยสำหรับการจัดท่าทางของผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวและคุณภาพการนอนหลับลดลง ผู้ดูแลสามารถช่วยเพิ่มความสบายตัวของผู้ป่วยได้ด้วยวิธีการให้นอนคว่ำสลับนอนหงายเป็นระยะ ๆ โดยให้นอนคว่ำครั้งละ 4 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้งต่อวันสลับกับการนอนหงาย หรืออาจใช้ที่นอนโฟมกระจายแรงกดทับควบคู่ไปกับการจัดท่าทางของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวและลดโอกาสในการเกิดแผลกดทับจากการนอนบนเตียงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังมีความจำเป็นต้องทำการวิจัยทางคลินิกกับกลุ่มตัวอย่างในจำนวนที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงผลดีและผลเสียจากการจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำหน้า เพื่อพัฒนาแนวทางในการรักษา COVID-19 ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
** ในกรณีที่ท่านหายใจไม่สะดวก มีอาการหอบหืด หรือมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ให้โทรปรึกษาสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค เพื่อขอคำแนะนำ ความช่วยเหลือ เกี่ยวกับโรค COVID-19 โดยทันที **

 

Ref

: BBC NEWS THAI. แพทย์ให้คนไข้นอนคว่ำมากขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าปอด วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2563 สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564 จากhttps://www.bbc.com/thai/features-52291250
: Kevin Venus, Laveena Munshi and Michael Fralick. Prone positioning for patients with hypoxic respiratory failure related to COVID-19. CMAJ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.cmaj.ca/content/192/47/E1532