วิธีดูแลผู้ป่วยอัมพาตและโรคหลอดเลือดสมอง

วิธีดูแลผู้ป่วยอัมพาตและโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเป็นแล้ว หากมารับการรักษาไม่ทันท่วงที ส่วนใหญ่จะมีความพิการหลงเหลือหรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตส่งผลให้มีปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการเคลื่อนไหวไม่ได้ในระดับต่างกันหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองต้องการความช่วยเหลือในการพลิกตัวเมื่อนอนอยู่บนเตียง บางรายอาจเคลื่อนไหวร่างกายได้เพียงบางส่วนญาติหรือผู้ดูแล ก็อาจใช้รถเข็นในการช่วย ไม่ว่าจะเป็นรถเข็นที่เข็นด้วยตนเอง หรือรถเข็นไฟฟ้าก็ตาม เราควรดูแลส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย ตามที่แพทย์ พยาบาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัดแนะนำสอน ให้พยายามฝึกและสอบถามให้เข้าใจทำได้ก่อนออกจากโรงพยาบาล

 

การส่งเสริมให้ผู้ป่วยให้สามารถเคลื่อนไหวพอช่วยเหลือตนเองได้ที่สำคัญมีดังนี้

1.ส่งเสริมการออกกำลังกายบนเตียง ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกให้มีการออกกำลังกายบนเตียงให้มีการฟื้นฟูร่างกายให้มากที่สุด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถที่จะเคลื่อนไหวขาข้างที่อ่อนแรง โดยเลื่อนขาข้างที่แข็งแรงไปใต้ขาข้างที่อ่อนแรง เพื่อช่วยยกและเลื่อนขาข้างที่อ่อนแรงไป โดยผู้ป่วยสามารถใช้แขนข้างที่แข็งแรงเคลื่อนแขนและมือข้างที่อ่อนแรง สนับสนุน และชักชวนให้ผู้ป่วยทำเองบ่อยๆ สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

2.ส่งเสริมให้ออกกำลังกล้ามเนื้อก้นและกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกในระหว่างวัน เพื่อช่วยในการเตรียมผู้ป่วยสำหรับการเริ่มฝึกเดินในอนาคต โดยเริ่มจากการทำซ้ำ 5 ครั้งและเพิ่มเป็น 20 ครั้ง ซึ่งมีวิธีแนะนำให้ผู้ป่วยทำดังนี้

3.ออกกำลังกล้ามเนื้อก้น โดยการให้ขมิบก้น หรือบีบหดรูก้นเข้าหากันนับ 1 ถึง 5 แล้วปล่อย ทำซ้ำไปเรื่อยๆได้ตลอดทั้งวัน4.ออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขา โดยเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาให้รู้สึกตึง ในขณะเดียวกันกระดกส้นเท้าขึ้น และพยายามกดม้วนผ้าเช็ดตัวที่ใช้รองใต้เข่ากับเตียง (ใช้เพื่อช่วยในการออกกำลังต้นขา) ในขณะที่เกร็งอยู่ให้นับ 1 ถึง 5 แล้วปล่อย นับ 1 ถึง 5 แล้วทำซ้ำ ควรทำทั้งสองข้างของต้นขา (ควรทำบ่อยๆ) ญาติควรเริ่มการกระตุ้นการออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เมื่อผู้ป่วยมีสติ เนื่องจากกล้ามเนื้อต้นขาจะช่วยให้ข้อเข่าของผู้ป่วยมีความมั่นคงมีกำลังขณะฝึกเดิน

ซึ่งการเริ่มทรงตัว ฝึกเดินได้ จะช่วยเพิ่มกำลังใจให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

5.ส่งเสริมช่วยเหลือผู้ป่วยให้ลุกขึ้นนั่ง

6.ในกรณีที่ผู้ป่วยนอนพักบนเตียงที่บ้าน ผู้ดูแล/ญาติควรช่วยให้ผู้ป่วยออกจากเตียงให้ได้เร็วที่สุดเมื่ออาการผู้ป่วยคงที่ เมื่อแรกลุกนั่ง ญาติควรประคองผู้ป่วยด้านซีกที่อ่อนแรง โดยประคองหลังและศีรษะอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะนั่งคนเดียว โดยพิงพนักหัวเตียงก่อน แล้วค่อยนั่งห้อยขาข้างเตียง โดยวางเท้าบนที่รองเท้าที่มั่นคง และช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย โดยฝ่ามือของแขนที่อ่อนแรงให้วางราบบนเตียง ญาติ หรือผู้ดูแลต้องอดทนและให้กำลังใจผู้ป่วย ให้ฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ จนในที่สุด ผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นเองได้

7.เมื่อผู้ป่วยเริ่มรักษาการทรงตัวได้ ช่วยเหลือและสอนให้ผู้ป่วยลุกนั่งห้อยขาเองได้ โดยให้ผู้ป่วยจับแขนข้างที่อ่อนแรงวางไว้บนหน้าอก ขาข้างปกติสอดใต้เข่าข้างที่อ่อนแรง ซึ่งเป็นข้างลงข้างเตียง ใช้มือ

ข้างปกติยันเตียงไว้ ยกศีรษะ และไหล่ขึ้น พร้อมกับดันตัวลุกนั่ง

8.แนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับการใช้รถเข็น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตต้องเรียนรู้การเคลื่อนย้ายตัวเองอย่างปลอดภัยจากเตียงสู่เก้าอี้ หรือรถเข็น ผู้ป่วยสามารถขับเคลื่อนรถเข็นด้วยแขนและขาข้างที่แข็งแรง ผู้ป่วยจะได้รู้สึกว่า ไม่ต้องพึ่งพาใคร มีคุณค่าขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนย้ายตนเองได้เอง สามารถเคลื่อนย้ายโดยการให้ผู้ป่วยนั่งอยู่ริมเตียง เท้าทั้งสองข้างแตะพื้น ผู้ดูแล/ญาติจัดรถเข็นเข้าด้านปกติของผู้ป่วยโดยทำมุม 30-45 องศากับเตียง ล็อกล้อรถก่อนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกครั้ง ปัดที่พักเท้ารถเข็นขึ้นด้านบน ให้ผู้ป่วยโน้มตัวมาข้างหน้า ใช้มือข้างปกติยันขอบเตียง ดันตัวลุกขึ้นยืน ให้น้ำหนักอยู่บนขาข้างปกติ เอื้อมแขนข้างปกติ เอามือมาจับพนักวางแขนของรถเข็นด้านนอก แล้วจึงค่อยๆหย่อนตัวลงนั่งบนรถเข็นโดยใช้ขาข้างปกติเป็นแกนช่วยหมุนตัว