มาวัดความดันที่บ้านกันเถอะ

มาวัดความดันที่บ้านกันเถอะ

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบมากในคนไทย นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือก้าวทันโลกกว้าง กับ อ. อ่างสุขภาพไว้ว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรผู้ใหญ่ โดยอายุ 45-70 ปี พบร้อยละ 30-44 อายุมากกว่า 70 ปี พบประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในวัยนี้ ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่รับการรักษาอยู่มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์

 

โรคแทรกซ้อนอันตราย

ความดันโลหิตสูงเกือบทุกคนไม่มีอาการอะไรจนกว่าจะเกิดโรคแทรกแล้วการติดตามจึงจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตอยู่อย่างสม่ำเสมอซึ่งแต่เดิมใช้วิธีวัดความดันที่โรงพยาบาลในการช่วยวินิจฉัย แต่จากการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรับการรักษาความดันโลหิตสูงโดยใช้การวัดความดันที่บ้าน ในฐานข้อมูล PubMed และ THE  COCHRANE LIBRALY  จาก 16 การศึกษาพบว่า การวัดความดันโลหิตที่บ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น การประเมินผลของยาลดความดันโลหิตในการรักษาทำได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยกินยาสม่ำเสมอมากขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการควบคุมความดันโลหิตได้ดีกว่าอีกด้วย จากหลักฐานทางวิชาการดังกล่าว องค์กรความดันโลหิตสูงของทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงออกคำแนะนำมาใน พ.ศ. 2551 ตรงกันว่าผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรวัดความดันโลหิตที่บ้านด้วยตนเอง

 

การติดตามผล

การติดตามความดันโลหิตโดยวิธีวัดความดันเองที่บ้าน จะเป็นผลดีทั้งต่อผู้ป่วยด้านการควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และกับผู้ที่ยังไม่เป็นความดันโลหิตสูงในแง่การป้องกัน เปรียบเสมือนการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยที่บ้าน ซึ่งจะเกิดผลดีในการเรียนรู้วิธีการดูแลตนเอง การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต อันจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยปัจจุบันการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง นิยมวัดด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตระบบดิจิตอล เนื่องจากวิธีการวัดสามารถทำได้สะดวก ไม่ซับซ้อนยุ่งยากและผู้วัดสามารถทำได้ด้วยตนเอง ค่าที่อ่านได้มีความแม่นยำตามมาตรฐานที่จะสามารถใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยภาวะของโรคความดันโลหิตสูงได้  ซึ่งข้อปฏิบัติในการวัดความดันโลหิตเพื่อให้ค่าความดันโลหิตที่วัดได้มีความเที่ยงตรงของเครื่องวัดความดันระบบดิจิตอลก็ได้แก่

♦ ควรเลือก cuff ที่มีขนาดพอดีกับแขนท่อนบน

♦ ควรพักร่างกาย ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือออกกำลัง ก่อนทำการวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 30 นาที

♦ นั่งอย่างถูกวิธี : นั่งหลังตรงพิงพนักที่แข็งแรง ไม่นั่งไขว่ห้างหรือไขว้แขน วางเท้าเรียบไปกับพื้น แขนที่ใส่ที่พันต้นแขนของเครื่องวัดความดันโลหิตวางบนโต๊ะที่แข็งแรงโดยให้ระดับแขนท่อนบนอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ ไม่ควรพูดคุย ทั้งก่อน และระหว่างการวัดความดันโลหิต ประมาณ 4-5 นาที

♦ ควรมีการวัดซ้ำ 2-3 ครั้งโดยห่างกันประมาณ 1 นาที

♦ จดบันทึกค่าตัวเลขความดันโลหิตของตนเองลงในสมุดบันทึก และพร้อมที่จะแสดงค่าความดันโลหิตให้แพทย์ที่ดูแล

♦ สำหรับผู้ที่มีเครื่องวัดความดันใช้เอง ควรวัดความดันโลหิตเป็นประจำ โดยวัดในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน เพราะค่าความดันโลหิตในแต่ละช่วงเวลาระหว่างวันอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ช่วงเวลาที่แนะนำในการวัดความดันโลหิต คือช่วงเช้าก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ และในช่วงค่ำก่อนนอน