ฝุ่น PM 2.5 ทำร้ายผู้สูงอายุอย่างไร

1 ฝุ่น PM 2.5 ทำร้ายผู้สูงอายุอย่างไร

ในปัจจุบันนี้สภาพอากาศเต็มไปด้วยมลภาวะต่าง ๆ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างฝุ่น pm 2.5 นับว่าเป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนต้องเผชิญกันอยู่เสมอ ซึ่งฝุ่นชนิดนี้ มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้อย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สูดดมฝุ่นละอองเข้าไปโดยตรง 

ในบทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับฝุ่น pm 2.5 กันให้มากขึ้นว่าคืออะไร? ทำลายสุขภาพผู้สูงอายุได้อย่างไร? รวมไปถึงวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้ห่างไกลอันตรายจากฝุ่น pm 2.5 มาดูข้อมูลไปพร้อม ๆ กันได้ที่นี่

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร

2 ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่น pm 2.5 คือ ฝุ่นอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยคำว่า pm ย่อมาจากคำว่า Particulate matter เป็นหน่วยวัดขนาดของอนุภาคที่อยู่ในอากาศ 

โดยปกติในระบบทางเดินหายใจของคนเรา จะมีขนพัดโบกหรือที่เรียกว่า Respiratory cilia และมีการหลั่งน้ำมูก รวมถึงเสมหะออกมา เพื่อที่จะดักจับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ทางเดินหายใจ แต่ฝุ่น pm 2.5 ที่เราเผชิญอยู่กันทุกวันนี้มีขนาดเล็กมาก สามารถผ่านเข้าไปได้ถึงหลอดลมฝอยขนาดเล็ก และถ้าฝุ่นมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร จะอันตรายถึงขั้นแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้

โดยแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น pm 2.5  มีดังต่อไปนี้ 

  • เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ 
  • ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง
  • เกิดจากการเผาป่า เผาขยะ 
  • เกิดจากควันบุหรี่ ควันรถยนต์
  • สภาพอากาศ 

ทั้งนี้องค์กรอนามัยโลก (WHO) ให้ค่าเฉลี่ยว่าหากมีฝุ่น pm 2.5 มากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะส่งผลกระทบที่อันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งในประเทศไทยจะมีการแบ่งดัชนีคุณภาพอากาศออกเป็นทั้งหมด 5 ระดับดังต่อไปนี้ 

  • AQI 0-25 คือ คุณภาพอากาศดีมาก : เหมาะต่อการทำกิจกรรมกลางแจ้งและเดินทางท่องเที่ยว 
  • AQI 26-50 คือ คุณภาพอากาศดี : สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและเดินทางท่องเที่ยวได้
  • AQI 51-100 คือ คุณภาพอากาศปานกลาง : บุคคลทั่วไปที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ หากเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง แนะนำให้ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 
  • AQI 101-200 คือ คุณภาพอากาศเริ่มมีผลต่อสุขภาพ : แนะนำให้ใส่อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละออง เช่น แมส แว่นตา ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • AQI 201 ขึ้นไป คือ คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพ : ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และควรสวมแมสก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุอย่างไร

3 ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุอย่างไร

หลาย ๆ คนมีความสงสัยกันว่าฝุ่น pm 2.5 ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง ซึ่งหลัก ๆ จะมีดังต่อไปนี้

  • ฝุ่น pm 2.5 เข้าไปสะสมตามหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบตัน หากเป็นหลอดเลือดที่สมองก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และหากฝุ่นชนิดนี้เข้าไปสะสมที่หลอดเลือดหัวใจ ก็มีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลันและโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
  • ฝุ่น pm 2.5 เข้าไปสะสมในปอด : ปัญหานี้เรียกได้ว่าอันตรายต่อผู้สูงอายุอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือหอบหืด ฝุ่นขนาดเล็กนี้สามารถทำให้อาการของโรคดังกล่าวกำเริบขึ้นได้ และยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด รวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจด้วย หากสูดดมฝุ่นนี้เข้าไปเป็นระยะเวลานาน 
  • ฝุ่น pm 2.5 เข้าไปสะสมในสมอง : การสูดดมฝุ่นขนาดเล็กนี้เข้าไปในปริมาณมากอยู่เรื่อย ๆ ก่อให้เกิดการหลั่งสารอักเสบชนิดต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมไวกว่าปกติได้

สังเกตอาการผิดปกติเมื่อสัมผัสฝุ่น PM 2.5 

สำหรับวิธีการสังเกตอาการที่ผิดปกติ เมื่อมีการสัมผัสฝุ่น pm 2.5  มีดังต่อไปนี้

  • ระคายเคืองบริเวณดวงตา แสบตา ตาแดง ใต้ตาช้ำ และมีน้ำตาไหลบ่อย
  • ระคายเคืองบริเวณผิวหนัง อาจเกิดเป็นตุ่มนูนแดงกระจาย ผื่นคันตามร่างกาย เช่น แขน ขา ข้อพับ ขาหนีบ และอาจเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังขึ้น
  • รู้สึกคันโพรงจมูก มีน้ำมูกแบบใส หายใจไม่สะดวกติดขัด ไอ จาม และแน่นหน้าอก 
  • มีไข้ขึ้น ตัวร้อน และรู้สึกไม่สบายตัว

วิธีป้องกันผู้สูงอายุให้ห่างไกลฝุ่น PM 2.5

4 วิธีป้องกันผู้สูงอายุให้ห่างไกลฝุ่น PM 2.5

สามารถป้องกันและดูแลผู้สูงอายุให้ห่างกันจากอันตรายของฝุ่น pm 2.5 ได้ โดยการ

  • ตรวจเช็กสภาพอากาศทุกเช้า : เพื่อให้แน่ใจว่าในแต่ละวันมีสภาพอากาศที่ดี มีค่าฝุ่น pm 2.5 อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ ถึงจะสามารถออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ หากสภาพอากาศไม่ดี ก็ควรให้ผู้สูงอายุสวมแมส และทำกิจกรรมภายในอาคารแทน
  • อยู่ในอาคารที่มีการถ่ายเทอากาศดี : หรือมีระบบในการกรองอากาศที่ดี หากให้ดียิ่งขึ้นควรมีเครื่องกรองอากาศที่ช่วยกรองฝุ่นละออง pm 2.5 จะช่วยลดการเกิดอาการแพ้ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ได้
  • สวมหน้ากากอนามัย : เพื่อป้องกันฝุ่นขนาดเล็กนี้ หากมีความจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ในวันที่ค่าฝุ่นอยู่ระดับสูงจนอันตราย แนะนำให้สวมแมส N 95 จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันดีกว่าแมสธรรมดา
  • ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย : การเปลี่ยนผ้าปูที่นอน เปลี่ยนปลอกหมอน กวาดถูทำความสะอาดห้องพัก เช็ดฝุ่น และปัดฝุ่นอยู่เสมอ สามารถช่วยลดการสะสมของฝุ่นขนาดเล็กนี้ได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย : การที่ผู้สูงอายุได้รับประทานอาหารที่ดีในปริมาณที่เหมาะสม ดื่มน้ำสะอาด และพักผ่อนให้เพียงพอ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะดีตามไปด้วย 
  • หมั่นคอยสังเกตอาการของผู้สูงอายุ : โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองยาก หรือผู้ป่วยติดเตียง นอกจากการใส่ใจเลือกเตียงนอนผู้สูงอายุ เพื่อสุขภาพกายที่ดีและความสะดวกสบายของผู้สูงอายุแล้ว ก็ควรสังเกตอาการที่ผิดปกติในวันที่สภาพอากาศไม่ดีร่วมด้วย หากพบอาการผิดปกติ ก็ควรรีบพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์โดยทันที 

สรุปบทความ 

ฝุ่น pm 2.5 เรียกได้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ  โดยการหลีกเลี่ยงฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสามารถป้องกันตัวเองและคนที่คุณรักได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตรวจสอบสภาพอากาศตอนเช้าก่อนออกจากที่พักเสมอ สวมแมสเมื่อต้องไปยังพื้นที่ที่ฝุ่นเยอะ และคอยสังเกตอาการความผิดปกติของร่างกาย หากเกิดอาการไม่ดีหรือผิดปกติขึ้นให้รีบพบแพทย์โดยทันที