การเตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

การฉีดวัคซีนในปัจจุบันนับว่าเป็นวิธีที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19 ได้ดีที่สุด โดยขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรการแพทย์ บุคคลที่อยู่ในสถานที่เสี่ยง หรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ก่อนและหลังทำการฉีดวัคซีนจะมีข้อปฏิบัติอย่างไรบ้าง มาดูกัน

โดยปกติแล้วการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนใดก็อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้เสมอ ทั้งนี้หากมีการเตรียมตัวหรือเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมไว้ก่อนฉีดวัคซีนอาจมีส่วนช่วยในการลดผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนลงได้ โดยสำหรับการเตรียมตัวนั้น กระทรวงสาธารณะสุขได้ระบุ 7 ข้อแนะนำดังนี้
1. สองวันก่อนวันฉีดวัคซีน ให้งดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนัก หรือการออกกำลังกาย รวมถึงให้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
2. ในวันฉีดวัคซีน ให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 0.5-1.0 ลิตร โดยงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟีอีน เช่น กาแฟ เบียร์ เป็นต้น
3. ให้ฉีดวัคซีนบนแขนข้างที่ไม่ถนัด และหลีกเลี่ยงการใช้งานแขนข้างที่ฉีดเป็นเวลาสองวัน
4. หลังฉีดวัคซีนแล้ว ให้นั่งพักสังเกตอาการข้างเคียงเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที บริเวณจุดพักรออาการที่จัดเตรียมไว้ให้
5. กรณีมีไข้อ่อน ๆ หรือมีอาการปวดเมื่อยจนทนไม่ไหว ให้ทานยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด โดยห้ามทานยาประเภท Brufen, Arcoxia และ Celebrix โดยเด็ดขาด หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรือไข้ขึ้นสูงให้ไปพบแพทย์ทันที
6. หากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนหน้านี้ ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนฉีดวัคซีนโควิด
7. หากรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ สามารถรับประทานได้ตามปกติ
ทั้งนี้หากมีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง เช่น เกิดอาการแน่นหน้าอก ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง หรือเกิดอาการชัก หมดสติ ควรรีบแจ้งแพทย์โดยทันที โดยอาจเกิดจากอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งอาการจะแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งของหลอดเลือดที่อุดตัน แต่อย่างไรก็ตามโอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเสียชีวิตมีต่ำมาก ไม่เหมือนการเกิดลิ่มเลือดจากภาวะผิดปกติอื่นๆ เช่นภาวะหัวใจสั่นพริ้ว (AFIB) ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาตสูง จึงไม่มีความจำเป็นต้องกังวลแต่อย่างใด

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนโควิดแล้ว ร่างกายก็ยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานโดยทันที โดยระดับของภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน และเพิ่มสูงขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว อีกทั้งการได้รับวัคซีน ไม่ได้ป้องกันการติดและแพร่กระจายของเชื้อได้ 100% จึงต้องทำควบคู่ไปกับการเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย และลดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มโดยไม่จำเป็นควบคู่ไปด้วย

** ในกรณีที่ท่านหายใจไม่สะดวก มีอาการหอบหืด หรือมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ให้โทรปรึกษาสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค เพื่อขอคำแนะนำ ความช่วยเหลือ เกี่ยวกับโรค COVID-19 โดยทันที **

Ref
: Bangkokhospital. รู้ให้ชัดก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2564 จากhttps://www.bangkokhospital.com/content/know-well-before-getting-the-covid-19-vaccine
: Panjawara Boonsrangsom. 7 ข้อปฏิบัติ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2564 สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2564 จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/54564-7%20ข้อปฏิบัติ%20ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19.html
: นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก. ยาคุมกำเนิดและวัคซีนโควิด-19 ทำให้ลิ่มเลือดอุดตันจริงหรือไม่. The Standard วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2564 สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2564 จาก https://thestandard.co/birth-control-pills-and-coronavirus-vaccine-are-causing-blood-clots-or-not/