ไม่แก่…ก็ข้อเข่าเสื่อมได้
คนทั่วไปมักจะคิดว่า “ข้อเข่าเสื่อม” จะเกิดกับ ผู้สูงวัย แต่ข้อเท็จจริงโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกวัย หากใช้งานข้อไม่ถูกต้องหรือใช้งานหนักเกินไป โดยศูนย์ออร์โธปิดิกส์ รพ. ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ให้ข้อมูลว่าข้อเข่าเสื่อมอาจเกิดขึ้นได้แม้ในวัยทำงานหากผู้ป่วยมี 3 พฤติกรรมเสี่ยงดังนี้
1.ชอบนั่งงอเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งยองๆ เป็นประจำ เพราะเมื่อข้อเข่าได้รับแรงกระแทก แรงกด จะทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเสื่อม อันเป็นสาเหตุของการเจ็บปวดเพราะโรคข้อเข่าเสื่อมได้
2.น้ำหนักตัวมากเกิน คล้ายกับในข้อแรกแต่ต่างกันที่ น้ำหนักตัวมากจะส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดตลอดทั้งวัน เร่งการเกิดข้อเข่าเสื่อม
3.ใส่รองเท้าส้นสูง จะทำให้ข้อเข่ามีแรงกดทับมากกว่าปกติ ทั้งยังทำร้ายข้อ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า หากคนที่มีข้อเข่าไม่แข็งแรง หรือมีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ จะมีผลกระทบมากกว่าคนปกติ และเกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าด้วย
อาการในระยะแรกนั้นสังเกตว่ามีเสียงดังขณะขยับข้อไปมาบ้างก็ข้อฝืด โดยเฉพาะเวลานั่งนานๆ หรือขณะเปลี่ยนอิริยาบถจะเหมือนข้อถูกล็อกไว้ ต้องขยับไปมา 2-3 ครั้ง จึงเหยียดเข่าออกได้ บางรายมีข้อบวมแดง หรือโต มีน้ำภายในข้อซึ่งบ่งถึงการอักเสบในรายที่เป็นมากอาจพบข้อติด ขยับได้ไม่เต็มที่หรืออาจพบกล้ามเนื้อขาลีบเล็กลงกว่าข้างปกติ เป็นต้น
วิธีถนอมข้อเข่า เพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมคือ
1.ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกิน
2.เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องงอเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ หรือการนั่งยองๆ
3.เลือกการออกกำลังกายที่ไม่มีผลร้ายต่อข้อเข่า เช่น เดิน ปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกายในน้ำ ฯลฯ และหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้ข้อเข่ามากเช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วิ่งเร็วๆ นอกจากจะทำให้ข้อเสื่อมแล้ว อาจเกิดอุบัติเหตุกับข้อเข่าได้
4.หมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง จะช่วยซับแรงกระแทกและลดอาการข้อเข่าเสื่อมได้
5.ใช้สนับเข่าเท่าที่จำเป็น (เลือกใช้ในรายที่ข้อเสียความมั่นคง)
6.หากมีอาการเจ็บข้อเข่ามากอย่างเฉียบพลัน อาจถือร่มหรือไม้เท้าใน ด้านตรงข้ามกับขาที่เจ็บจะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อและลดอาการปวดได้
โดยทั่วไปโรคนี้มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงวัยตั้งแต่ 60 ขึ้นไป แต่ยังพบว่ามีโรค บางอย่างเป็นสาเหตุให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้
เร็วกว่าวัยอันควร ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมในชีวิตประจำวันว่าทำร้ายข้อเข่าอยู่หรือไม่ ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่าง สม่ำเสมอ