โรคไข้เลือดออก อันตรายจากยุงที่ต้องระวัง

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มักจะพบผู้ป่วยโรคนี้ได้บ่อยเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของทุก ๆ ปี ซึ่งความรุนแรงของโรคนี้ก็จะมีความหนัก-เบาแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ดังนั้น เรามาทำความรู้จักสาเหตุและอาการของไข้เลือดออก รวมถึงวิธีรักษาและแนวทางการป้องกันโรคไข้เลือดออกกันดีกว่า เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อาการที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นกันไว้ดีกว่าแก้

โรคไข้เลือดออก มีสาเหตุมาจากอะไร

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากยุงลายตัวเมียกัด (Aedes Aegypti) โดยเมื่อยุงกัดผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยเฉพาะในช่วงที่มีไข้สูง เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) จะเพิ่มจำนวนแล้วไปอยู่ที่ผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง และเมื่อยุงตัวที่เป็นพาหะไปกัดผู้อื่นต่อ เชื้อไวรัสก็จะแพร่กระจายมาผ่านน้ำลายของยุงได้

อาการของไข้เลือดออก

แม้ว่าการได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่จะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไข้เลือดออก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน โดยจะมีเพียงร้อยละ 25-30 ของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสที่จะมีอาการป่วยขึ้น นอกเหนือจากนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับเชื้อแบบไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไข้เลือดออก จะมีตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ดังนี้

  • อาการไข้ไม่ทราบสาเหตุ 
  • เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดข้อ
  • รับประทานอาหารได้น้อยลง คลื่นไส้อาเจียน
  • มีภาวะเลือดออกมาก
  • ภาวะช็อก โดยจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อยลง
  • มีอาการสมองอักเสบ ภาวะชัก หรือมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ

การรักษาโรคไข้เลือดออก

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในช่วงแรก จะมีไข้สูงและเบื่ออาหาร สามารถรักษาเบื้องต้นด้วยการทานยาลดไข้ การดื่มน้ำเกลือแร่ หรือการรับประทานอาหารอ่อน ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอได้ โดยหากเริ่มมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมในทันที

แนวทางการป้องกันโรคไข้เลือดออก

แม้ว่าอาการของโรคไข้เลือดออกในผู้ป่วยบางรายจะไม่ได้รุนแรง แต่การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ย่อมดีกว่าการแก้ไข เพราะหากมีอาการหนักขึ้นมาจนบางรายอาจจะถึงแก่ชีวิตก็คงจะไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่ โดยแนวทางป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง มีดังนี้

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ 
  • ภาชนะใส่น้ำควรมีฝาปิดมิดชิด
  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และทายากันยุง หรือนอนในมุ้งเมื่ออยู่ในชุมชนหรือสถานที่ที่มียุงชุม
  • ผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก ควรระวังไม่ให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือด และอาจแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้
  • รายงานคนไข้ไปที่โรงพยาบาลหรืออนามัยจังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการกำจัดยุงบริเวณนั้นก่อนจะมีการระบาดเพิ่มขึ้น

สรุปเรื่องโรคไข้เลือดออก

แม้ว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกี จะไม่ได้แสดงอาการของโรคไข้เลือดออกออกมาทุกคน แต่สำหรับคนที่แสดงอาการออกมา เช่น มีไข้สูง เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ไม่อยากอาหาร เป็นต้น ก็ควรจะมีคนดูแลอาการอย่างใกล้ชิด และหมั่นใช้เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด วัดอุณหภูมิของร่างกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นจนเกิดอาการช็อกและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการภาชนะรอบ ๆ บ้านไม่ให้มีน้ำขัง และหมั่นฉีดยากันยุงภายในบ้านเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกกับคนในครอบครัว