สาเหตุอาการปวดและแนวทางการรักษาด้วยความร้อน

อาการปวด

อาการปวดเมื่อยปวดกล้ามเนื้อ เป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติจากร่างกายที่อาจเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานกล้ามเนื้อไม่ถูกต้อง ใช้งานล้ามเนื้อหนักมากเกินไป อยู่ในช่วงมีประจำเดือน หรือผลข้างเคียงจากโรคต่าง ๆ

อาการปวดเหล่านี้สามารถบรรเทาได้

• อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ
• อาการปวดกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย
• อาการปวดเมื่อยจากการทำงาน (Office Syndrome)
• อาการปวดประจำเดือน

สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อ

อาการปวดกล้ามเนื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่สำคัญ คือ การได้รับบาดเจ็บของ กล้ามเนื้อซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการใช้งานที่มากเกินไป การใช้งานซ้ำ ๆ หรือการได้รับบาดเจ็บโดยตรง เช่น การถูกกระแทกหรือเกิดจากภาวะโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ อาการเจ็บและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในกลุ่มที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อที่มีจุดกดปวด (trigger point) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยมากในวัยกลางคน ทั้งเพศหญิงและชาย โดยจะมีอาการ ปวดลึก เมื่อกดบริเวณที่ปวด จะปวดร้าว กลไกการเกิด trigger point เชื่อว่าเป็นผลจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่หนักเกินไป ทำให้มีการฉีกขาดของเซลล์กล้ามเนื้อลาย เกิดการหดตัวของใยกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการคั่งของ kinin, potassium, histamine, serotonin หรือ prostaglandin ซึ่งเป็นสารชักนำการอักเสบ ทำให้รู้สึกปวด

วิธีการรักษาหรือบรรเทาอาการปวด

จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้เรามีวิธีการที่หลากหลายมากขึ้นในการบรรเทาอาการปวดทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง การทำกายภาพบำบัด บรรเทาอาการปวดและฟื้นฟูร่างกายให้เป็นปกติได้เร็วขึ้นการนวดกดจุด สามารถกดจุดได้ทุกส่วนของร่างกายเพื่อให้เลือดมีการไหลเวียนที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บรรเทาความปวดได้

อุปกรณ์บรรเทาอาการปวดด้วยความร้อนมีหลายประเภท เช่นถุงน้ำร้อน เจลประคบร้อนเย็น หรือแผ่นให้ความร้อนไฟฟ้า เจลร้อนเย็นยังได้รับความนิยมจากทุกครัวเรือนในการพกติดไว้ที่บ้านเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวด ขณะที่การใช้งานของถุงน้ำร้อนมีอัตราการใช้ที่ลดลงเนื่องจากความสามารถในการเก็บความร้อนที่มีจำกัด
อุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากแพร่หลายตามศูนย์กายภาพบำบัดและโรงพยาบาล คือ แผ่นให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งให้ความร้อนในการบำบัดรักษาที่คงที่และสะดวกต่อการใช้งาน

การบรรเทาอาการปวดด้วยความร้อน

การบำบัดด้วยความร้อนเป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพื่อให้การบำบัดมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อกล้ามเนื้อได้รับความร้อนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดจึงไหลเวียนดีขึ้นและช่วยขับสารพิษหรือสารชักนำการอักเสบ ทำให้อาการอักเสบลดลง ทำให้มีการนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวได้มากขึ้น ช่วยผ่อนคลายและรักษากล้ามเนื้อ ทำให้ความรู้สึกปวดบรรเทาลง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อยืดหยุ่นมากขึ้น จึงลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ

ประเภทของการรักษาด้วยความร้อน

ความร้อนชื้น เป็นความร้อนที่แพร่ความร้อนลงสู่ชั้นกล้ามเนื้อได้ดีเป็นที่นิยมใช้ในการรักษาทางกายภาพบำบัด
ความร้อนแห้ง เป็นความร้อนที่ทำให้ผิวสูญเสียน้ำ ส่งผลให้้ผิวแห้งและแพร่กระจายความร้อนลงสู่ชั้นกล้ามเนื้อได้น้อยกว่า

 

อาการปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ

สามารถบรรเทาได้ด้วยศาสตร์การประคบร้อน แต่ในกลุ่มคนเหล่านี้หากมีอาการฟกช้ำหรืออักเสบบวมในช่วงแรกหรือภายใน 72 ชั่วโมงหรือจากร่างกายได้รับบาดเจ็บ ควรเลือกการประคบเย็นก่อน

 

 

Reference:
จักรกริช กล้าผจญ. (n.d.). บทที่ 15 การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคและการบาดเจ็บกระดูก ข้อและกล้ามเนื้อ. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://w1.med.cmu.ac.th/rehab/images/Study_guide/08_2Rehab_in_MSK_JK.pdf
Sreeraj, S.R. Physiologic and Therapeutic Effects of superficial and deep Heat, (2014) สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.slideshare.net/sreerajsr/physiologic-and-therapeutic-effects-of-heat
จักรกฤช ปิจดี. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา NSG 2202 การพยาบาลพื้นฐาน หัวข้อที่ 4.5 Pain Management, Skin Integrity and Wound Care. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2564 จาก http://www.elnurse.ssru.ac.th/chakkrich_pi/pluginfile.php/40/block_html/content