วัดความดันทีไร เจ็บแขนทุกที
เป็นประเด็นที่เรามองข้ามถึงเรื่องการวัดความดัน โดยปกติแล้วการทำงานของเครื่องวัดความดัน ตัวคัฟปลอกแขนจะบีบรัดตรงแขนเพื่อให้หลอดเลือดถูกบีบ และเลือดหยุดเดินชั่วขณะ (Flow = 0) จากนั้นตัวคัฟปลอกแขนของเครื่องวัดความดันก็จะคลายตัวให้หลอดขยายออกมาเล็กน้อย ซึ่งจังหวะนี้นั่นเองหัวใจจะบีบให้เลือดไหลไปกระทบกับหลอดเลือด ก็จะได้ความดันค่าบน (Systolic Blood Pressure – ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว)
จากนั้นคัฟปลอกแขนของเครื่องวัดความดันก็จะคลายตัวจนสุด จนกระทั่งเลือดไหลเวียนตามปกติ และค่าสุดท้ายที่สะท้อนออกมาก็คือความดันค่าล่าง (Diastolic Blood Pressure – ความดันขณะหัวใจคลายตัว) ทีนี้ดังที่กล่าวข้างต้นว่าการวัดความดันต้องบีบแขนจนให้เลือดหยุดเดินชั่วขณะ จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกเจ็บเพราะถูกบีบรัดจนแน่น
ใครที่ทรมานจากการวัดความดัน
คนปกติทั่วไปที่วัดความดันเพียงวันละ 1-2 ครั้ง จะไม่เกิดความเจ็บปวดมากนัก เพราะทนเจ็บเพียงครู่เดียวก็หายแล้ว แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องวัดความดันหนึ่งวันไม่ต่ำกว่า 5 รอบ จะเกิดความเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูดหรือขยับเขยื้อนร่างกายได้ เช่น ไตวายขั้นรุนแรง เบาหวานระยะสุดท้าย มะเร็ง ฯลฯ กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ต้องได้รับการวัดความดันตลอดเวลาเพื่อตรวจวัดความดันและชีพจร (ในหนึ่งวันอาจมากกว่า 10 รอบ) ทำให้ได้รับความเจ็บปวดจากคัฟปลอดแขนที่กดรัดแน่น
เลือกเครื่องวัดความดันอย่างไรดี
ในปัจจุบันมีเครื่องวัดความดันที่มี Size ของคัฟปลอกแขนให้เลือกได้อย่างเหมาะสม เช่น คนที่แขนใหญ่ก็เลือก Size L เมื่อวัดความดันจะช่วยลดความเจ็บจากการบีบตัวของคัฟได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีคัฟปลอกแขนแบบ Gentle+ ที่จะลดความเจ็บจากการวัดความดันได้ เพื่อความสบายของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและไม่ควรลืมคือ ต้องเลือกเครื่องวัดความดันที่มีความแม่นยำ และได้มาตรฐานจริง เพื่อลดความคลาดเคลื่อนจากค่าที่ได้