อาการปวดหลังเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ถึงแม้อาการปวดเอวหรือปวดเอวด้านซ้ายอาจเป็นเพียงอาการเมื่อยล้าธรรมดา หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ให้เรารีบไปพบแพทย์ บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงสาเหตุของอาการนี้ว่าเกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่ควรต้องรีบไปพบแพทย์และวิธีการรักษาอาการปวดหลังด้านซ้ายอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังในอนาคต
ปวดหลังด้านซ้าย มีสาเหตุมาจากอะไร
อาการปวดหลังด้านซ้าย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะภายใน สาเหตุทั่วไปที่พบบ่อย ได้แก่
- นั่งไขว้ห้าง อาจเป็นท่านั่งที่หลาย ๆ คนรู้สึกว่านั่งสบาย จึงทำจนติดเป็นนิสัย นานเข้าทำให้น้ำหนักลงไปที่ข้างใดข้างหนึ่ง จนช่วงบริเวณลำตัวมีการบิดหมุน ทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกัน และเกิดอาการปวดหลังด้านซ้ายในที่สุด
- ใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไป เช่น การนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน ยกของหนักผิดท่าหรือออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป
- เกิดจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือแม้แต่โรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะภายใน เช่น โรคไต นิ่วหรือระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ
ปวดหลังขนาดไหน ถึงควรรีบไปพบแพทย์
การปวดหลังบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเมื่อมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น อาการปวดรุนแรงที่เกิดขึ้นทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ มีไข้สูงหรือมีอาการชาร่วมด้วย ทั้งนี้ก็ควรสังเกตอาการดังต่อไปนี้ด้วย
1. ปวดหลังซ้ายล่างร้าวไปถึงเอว
อาการปวดหลังด้านซ้ายที่ร้าวลงมาถึงเอว อาจเป็นสัญญาณของภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือทับเส้นประสาท โดยเฉพาะหากมีอาการปวดร้าวลงขา ชาหรือรู้สึกอ่อนแรง อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากการยกของหนักหรือการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหัน ควรรีบพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน
2. ปวดหลังด้านซ้ายร้าวลงไปที่ขา
เมื่อมีอาการปวดหลังด้านซ้ายที่ร้าวลงไปที่ขา มักเกิดจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังเช่นเดียวกันกับอาการปวดแล้วร้าวถึงเอว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อ อาจมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว ไอหรือจาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
3. ปวดหลังด้านซ้ายช่วงเอว
อาการปวดเอวด้านซ้ายเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีท่าทางการยืนหรือเดินที่ผิดปกติ เช่น หลังแอ่นหรือยืนนาน ๆ อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไปและอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทบริเวณเอวได้
ปวดหลังด้านซ้ายอันตรายไหม
อาการปวดหลังด้านซ้ายเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น โรคหัวใจ โรคไตหรือภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกหรือมีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมทันที
วิธีการแก้อาการปวดหลังด้านซ้าย
การบรรเทาอาการปวดเอวด้านหลังสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยตนเองที่บ้านและรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ อาการปวดเอวด้านหลัง วิธีแก้เบื้องต้นที่สามารถถทำได้ด้วยตนเอง ได้แก่
- นอนในท่าที่ถูกต้อง ควรนอนตะแคงและใช้หมอนรองระหว่างเข่าเพื่อให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง หากนอนหงาย ให้วางหมอนรองใต้เข่าเพื่อลดแรงกดที่หลังส่วนล่าง การนอนในท่าที่ถูกต้องจะช่วยลดอาการปวดและป้องกันการเกิดปัญหาหมอนรองกระดูกในระยะยาว
- ประคบร้อนหรือเย็นสลับกัน ใช้เจลประคบร้อนเย็น ประคบร้อน 15 – 20 นาที เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มการไหลเวียนเลือด สลับกับการประคบเย็น 10 – 15 นาที เพื่อลดการอักเสบและบวม ทำซ้ำ 2 – 3 ครั้งต่อวัน ช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้
- โยคะแก้ปวดหลัง โดยแนะนำให้ทำท่านั่งไขว้ขา บิดเอว โดยจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังล่าง ลดอาการเมื่อยล้า ยืดกระดูกสันหลัง หัวไหล่ คอและสะโพก บิดสลับซ้าย—ขวา ค้างไว้าข้างละประมาณ 3 – 5 วินาที
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไปก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้
อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดร้าวรุนแรงมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมหลังการรักษาด้วยตนเองนั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
สรุปบทความ
อาการปวดหลังด้านซ้ายเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลย เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน การสังเกตอาการและรู้จักวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว