ปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับแก้อย่างไรดี อันตรายหรือไม่

1 ปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับแก้อย่างไรดี อันตรายหรือไม่

คุณเคยรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับหรือไม่? อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำงานในแต่ละวัน รู้หรือไม่ว่าอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่ร้ายแรงกว่าที่คิด มาทำความเข้าใจกับสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาอาการปวดเมื่อยตามตัวที่ส่งผลให้นอนไม่หลับกัน 

ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการอย่างไร

อาการปวดเมื่อยตามตัวที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ เป็นความเจ็บปวดที่ต่อเนื่องและรบกวนการนอนหลับเป็นอย่างมาก อาจมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนมีแรงกดทับตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งรวมถึงอาการปวดขาตอนกลางคืน และปวดแขนตอนกลางคืนจนนอนไม่หลับด้วย ความเจ็บปวดนี้อาจรุนแรงขึ้นเมื่อพยายามนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกระสับกระส่าย พลิกตัวไปมา และไม่สามารถหลับสนิทได้ บางรายอาจรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมากในตอนเช้า แม้ว่าจะนอนเป็นเวลานานแล้วก็ตาม 

สาเหตุของอาการปวดเมื่อยตามตัวต่าง ๆ

อาการปวดเมื่อยแขนขาเวลานอนอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้ 

กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Fibromyalgia)

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นกลุ่มอาการปวดเรื้อรัง อาการปวดจะกระจายตามร่างกาย บริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ศีรษะ คอ บ่า และหลัง บางรายปวดทั้งตัว นอกจากอาการปวดยังอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ ได้หลายอาการ ได้แก่อาการอ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท รวมถึงความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้า มักพบร่วมกับอาการนอนไม่หลับและความเหนื่อยล้าเรื้อรัง ทำให้เนื้อเยื่อได้รับการบาดเจ็บ นำไปสู่ภาวะ ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคปวดกล้ามเนื้อมัยโอฟาสเชี่ยล และไฟโบรมัยอัลเจีย

นอกจากนี้ไฟโบรมัยอัลเจียยังสามารถเกิดร่วมกับภาวะอื่น ๆ ได้ เช่น โรคไมเกรน โรคปวดกล้ามเนื้อมัยโอฟาสเชี่ยล โรคไขข้ออักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ที่มีบุคลิกภาพเจ้าระเบียบ ดื้อรั้นย้ำคิดย้ำทำและพบในผู้ที่มีโรคซึมเศร้า

 หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ หรือการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกันกระแทกระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ ทำให้กดทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง จนเกิดอาการปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาท ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ปวดร้าวลงขา หรือชาตามแขนขา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน โดยอาการปวดมักรุนแรงขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทาง ไอ จาม หรือเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งทำให้รบกวนการนอนหลับเป็นอย่างมาก 

2 หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

โรคข้ออักเสบ

โรคข้ออักเสบ เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคข้อเสื่อม มักมีอาการปวด บวม แดง และร้อนบริเวณข้อที่อักเสบ อาการมักรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืนหรือเมื่อร่างกายอยู่นิ่ง ทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัว พลิกตัวลำบาก และตื่นบ่อยครั้ง 

กล้ามเนื้ออักเสบ

อาการกล้ามเนื้ออักเสบ อาจมีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายหักโหม หรืออุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการรุนแรงมาก ๆ จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนทำให้ไม่สามารถลุกเดินได้ 

มะเร็งกระดูก

อาการปวดเมื่อยตามตัวอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคมะเร็งกระดูก โดยส่วนมากมักพบเชื้อมะเร็งบริเวณกระดูกสันหลัง เชิงกรานและแขนขา ทำให้มีอาการปวดหลังนอนไม่หลับ โดยมักมีเนื้องอกมะเร็งกดทับไขสันหลัง หรือเส้นประสาท และปวดร้าวลงแขน-ขา จนมีอาการชา แขนขาอ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทันที 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัวนอนไม่หลับ

  1. พฤติกรรมการนอน การนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม หรือใช้เตียงและหมอนที่ไม่รองรับสรีระร่างกายอย่างเหมาะสม
  2. การขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่ออ่อนแอ เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการปวดเมื่อย
  3. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดทับต่อข้อต่อและกระดูกสันหลัง
  4. ความเครียดสะสม และความวิตกกังวล: ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึงตัวและเพิ่มความไวต่อความเจ็บปวด
  5. ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินดี แคลเซียม และแมกนีเซียม

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

สัญญาณเตือนเมื่อเกิดมีอาการปวด ไม่ว่าจะปวดหลังนอนไม่หลับ ปวดเมื่อยแขนขาเวลานอน หรือปวดขาตอนกลางคืนจนนอนไม่หลับ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์  

  1. อาการปวดรุนแรงขึ้นหรือไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษาด้วยตนเองเบื้องต้น 2-3 สัปดาห์
  2. อาการปวดรบกวนการนอนหลับอย่างมาก ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างชัดเจน
  3. มีอาการชา อ่อนแรง หรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อร่วมด้วย
  4. มีอาการปวดร่วมกับไข้ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
  5. อาการปวดเกิดขึ้นหลังจากการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ

เพราะอาการปวดจนรบกวนการนอน ไม่เพียงแค่อาการอ่อนล้าที่ตาม แต่ยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพของคุณในระยะยาวอีกด้วย เพราะฉะนั้นควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการปวดจนนอนไม่หลับ หรือปวดร่วมกับอาการอื่น ให้รีบพบแพทย์และเข้ารักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

3 วิธีรักษาอาการเบื้องต้นและวิธีการป้องกัน

วิธีรักษาอาการเบื้องต้นและวิธีการป้องกัน

วิธีรักษาอาการเบื้องต้นและป้องกันอาการปวดเมื่อยตามตัวที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ มีดังนี้:

  1. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรวมถึงปรับเปลี่ยนท่าทางการนอนให้เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะให้ผลดี สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นใน 2-3 เดือน การรักษาโดยการออกกำลังกายมีหลายรูปแบบ เช่น ออกกำลังแบบแอโรบิก การออกกำลังกายในสระน้ำ โดยเฉพาะในน้ำอุ่น รวมถึงการทำโยคะ รำหรือมวยจีน นอกจากนี้การนวดหรือการบรรเทาที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการปวด ช่วยผ่อนคลายความเครียด และส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้อาการดีขึ้นได้
  3. จัดการความเครียด ความเครียดและวิตกกังวลก็สามารถนำไปสู่อาการปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับได้ สามารถหากิจกรรมที่ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายจากความเครียดได้ 
  4. ประคบร้อนและเย็น เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยในบริเวณต่าง ๆ สามารถใช้แผ่นแปะแก้ปวดที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติ แปะบริเวณที่มีอาการ แผ่นแปะจะค่อย ๆ คลายกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการปวดนั้นลง
  5. หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทันที

สรุปบทความ

อาการปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก สาเหตุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่โรคทางกายจนถึงความเครียดทางจิตใจ ควรสังเกตอาการ เข้าใจปัจจัยเสี่ยง และรู้จักวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้น จะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง 

การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอาการปวดเมื่อย ช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้อาการและมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น