6 อาหารบำรุงเลือดที่ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง

อาหารบำรุงเลือดที่ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง หากไม่เฝ้าระวังหรือหมั่นสังเกตอาการ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ยกตัวอย่างอาการเบื้องต้นของผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโลหิตจาง เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย มือเท้าเย็น หายใจลำบาก ตัวซีด ตัวเหลือง หรือมีเสียงอื้อในหู สำหรับแนวทางป้องกันภาวะโลหิตจาง ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร หันมาเลือกทานอาหารบำรุงเลือดให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อการบำรุงเลือดให้สมบูรณ์

ภาวะโลหิตจาง เกิดจากอะไร

ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ออกซิเจนจากปอดไม่สามารถเดินทางไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ได้เพียงพอ หากร่างกายเข้าสู่ภาวะโลหิตจางรุนแรง อาจทำให้วูบหมดสติ หรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุ ได้แก่

  • โรคทางพันธุกรรม เม็ดเลือดแดงภายในร่างกายจะถูกทำลายเร็วกว่าคนปกติ
  • การเสียเลือดเฉียบพลัน เช่น การผ่าตัด การคลอดบุตร หรือการประสบอุบัติเหตุรุนแรง
  • การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการบำรุงเลือด เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินซี หรือวิตามินบี 12 ซึ่งมักพบในอาหารบำรุงเลือดจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล หรือผักใบเขียว

ทำไมถึงควรทานอาหารบำรุงเลือด

การมีสุขภาพดีนอกจากหมั่นออกกำลังกาย การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโลหิตจาง ควรทานอาหารบำรุงเลือดเพิ่ม จะเป็นการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์แข็งแรง เพราะร่างกายได้รับแร่ธาตุและวิตามินที่เพียงพอ ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดภายในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น

6 อาหารบำรุงเลือดที่ควรทานเป็นประจำ

สารอาหารที่เม็ดเลือดแดงชื่นชอบมักอยู่ในอาหารบำรุงเลือดที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินซี และวิตามินบี 12 ซึ่งแร่ธาตุและวิตามินเหล่านี้อยู่ในอาหารประเภทไหนบ้าง เราสรุปมาให้แล้ว!

1. เนื้อสัตว์และเครื่องใน

ถ้าต้องการเน้นเสริมธาตุเหล็กโดยเฉพาะ แนะนำให้ทานอาหารบำรุงเลือดจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อแกะ สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมทั้งธาตุเหล็กและโฟเลตไปพร้อมกัน แนะนำให้เลือกทานเครื่องในสัตว์ เช่น เลือด ตับ หัวใจ หรือลิ้นวัว เป็นต้น

อาหารทะเล

 2. อาหารทะเล

ใครที่ไม่ทานเนื้อสัตว์หรือเครื่องใน สามารถเลือกทานอาหารบำรุงเลือดจำพวกอาหารทะเล เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน หอยเชลล์ หอยนางรม ปู หรือกุ้ง จะอุดมไปด้วยธาตุเหล็กสูง บำรุงเลือดได้ดี

3. ธัญพืชและถั่ว

สายมังสวิรัติไม่ต้องกังวล เพราะธาตุเหล็กไม่ได้มีแค่ในเนื้อสัตว์ เครื่องใน หรืออาหารทะเลเท่านั้น สามารถเลือกทานอาหารบำรุงเลือดจำพวกธัญพืชและถั่วที่มีธาตุเหล็กสูงได้ เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน ถั่วอัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วดำ ฯลฯ

ผักใบเขียว

4. ผักใบเขียว

ผักใบเขียวจะอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและโฟเลต นอกจากจะมีคุณสมบัติช่วยบำรุงเลือดได้ดีแล้ว ยังช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางอันมีสาเหตุมาจากการขาดโฟเลตได้อีกด้วย เช่น คะน้า บรอกโคลี ถั่วฝักยาว ใบแมงลัก ปวยเล้ง หรือผักแว่น เป็นต้น

5. ผลิตภัณฑ์นม

สำหรับผลิตภัณฑ์นมจะมีข้อแนะนำในการดื่มเล็กน้อย เนื่องจากนมบางชนิดมีส่วนผสมของแคลเซียม บางชนิดมีส่วนผสมของโฟเลต จึงไม่แนะนำให้ดื่มพร้อมมื้ออาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากมื้ออาหารได้น้อยลง แนะนำให้ดื่มแยกจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

6. ผลไม้รสเปรี้ยว

วิตามินซีจากผลไม้รสเปรี้ยวเป็นอาหารบำรุงเลือดชั้นดีที่ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น เช่น ส้ม ฝรั่ง ลิ้นจี่ สตรอว์เบอร์รี หรือผลไม้อื่น ๆ ที่มีรสเปรี้ยว

ผลไม้รสเปรี้ยว

สรุป

เนื่องจากภาวะโลหิตจางเป็นความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย และอาหารก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเช่นกัน เพราะฉะนั้นหลังจากได้รับผลวินิจฉัยจากแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำแนะนำแรกที่จะได้รับ คือ เลือกทานอาหารบำรุงเลือดให้มากขึ้น เพื่อเสริมแร่ธาตุและวิตามินให้เพียงพอต่อการบำรุงเลือดในร่างกาย 

สำหรับผู้สูงอายุที่มักมีอาการวิงเวียนศีรษะ คล้ายจะหน้ามืด แนะนำให้ตรวจเช็กความดันด้วยเครื่องวัดความดันดิจิตอล ใช้งานง่าย วัดผลได้ด้วยตัวเอง สามารถป้องกันความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดได้