การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งซีก
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงผู้ป่วยไปรถเข็น หรือจากรถเข็นไปเตียงผู้ป่วย หรืออาจจะรถเข็นไปนั่งเก้าอี้นั่งต่างๆ ล้วนมีความสำคัญมาก เพื่อให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยถูกต้องมีวิธีการดังนี้
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงไปนั่งในรถเข็น
♦ ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งห้อยขาลงข้างเตียง รถเข็นตั้งอยู่ทางด้านที่ปกติของผู้ป่วยโดยทำมุมประมาณ 45 องศา และล็อกล้อรถเข็นไว้
♦ ผู้ป่วยโน้มตัวลุกขึ้นยืนด้วยความระมัดระวัง
♦ เมื่อยืนได้มั่นคงดีแล้ว ใช้มือข้างที่ปกติจับที่วางแขนของรถเข็นก้าวขาข้างที่ปกติไปหารถเข็น พร้อมกับการหันตัวและก้มตัวนั่งลงในรถเข็น
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากรถเข็นไปเตียง
♦ ผู้ป่วยนั่งในรถเข็นที่ตั้งทำมุมประมาณ 45 องศากับเตียง โดยให้ด้านที่ปกติของผู้ป่วยเข้าหาเตียง ล็อกล้อรถเข็น และวางเท้าทั้งสองข้างลงบนพื้น
♦ มือข้างที่ปกติจับที่วางแขนแล้วโน้มตัวลุกขึ้นยืนด้วยความระมัดระวัง
♦ ย้ายมือจากที่วางแขนไปยังที่นอน แล้วก้าวขาข้างที่ปกติไปด้านหน้าเล็กน้อย หันลำตัวและย้ายตัวก้มลงไปนั่งบนเตียง
การเคลื่อนย้ายตัวจากเก้าอี้มีที่วางแขนไปยังรถเข็น
♦ จัดล้อรถเข็นให้ทำมุมกับเก้าอี้ทางด้านมือที่ดีของผู้ป่วยและพยายามจัดล้อรถเข็นให้เข้าใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้ามล้อรถเข็น ยกที่วางเท้าขึ้นจัดเท้าของผู้ป่วยเพื่อความสะดวกและปลอดภัย
♦ การลุกขึ้นยืน วิธีการลุกขึ้นยืนดังกล่าวแล้ว
♦ การจัดมือและการลงน้ำหนัก หลังจากผู้ป่วยมีการทรงตัวได้ดีแล้ว เลื่อนมือด้านดีจากที่วางแขนของเก้าอี้มาจับที่วางแขนของรถเข็นด้านไกล
♦ การหมุนเก้าอี้และนั่ง ใช้เทคนิคและวิธีการเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว คือ การจัดเท้าที่ดี การลงน้ำหนักที่มือแล้วจึงหมุนเท้า การนั่งโดยการโน้มศีรษะไปด้านหน้าเล็กน้อย งอข้อศอกและเข่าอย่างช้าๆ จะได้ท่านั่งตามต้องการ
4.การเคลื่อนย้ายตัวจากรถเข็นไปเก้าอี้มีที่วางแขน
หลักการคล้ายกับการเคลื่อนตัวจากเก้าอี้มีที่วางแขนไปรถเข็นเช่นที่กล่าวมาแล้วแต่เป็นการกระทำที่ย้อนกลับกัน หลักสำคัญจัดเก้าอี้ให้ทำมุมกับล้อรถเข็นทางด้านมือที่ดีของผู้ป่วย
5.การเคลื่อนตัวจากรถเข็นไปโถส้วม
ลักษณะห้องส้วมขนาดความกว้างของประตูห้องส้วมอย่างน้อยที่สุดควรมีความกว้างเท่ากับล้อรถเข็น ประตูห้องส้วมไม่ควรมีธรณีประตู พื้นที่ภายในห้องส้วมควรมีความกว้างเพียงพอที่รถเข็นสามารถเข้าได้
♦ ผู้ป่วยนั่งบนรถเข็นเลื่อนเข้าใกล้โถส้วม จัดรถเข็นโดยหันหน้าเข้าหาโถส้วม ยกที่วางเท้าขึ้น
♦ การยืนใช้แขนด้านดียันที่เท้าแขนลุกขึ้นยืน
♦ ใช้มือด้านดีจับราวเกาะข้างผนังหรือบนที่นั่งของโถส้วมส่วนที่ไกลจากตัวผู้ป่วย (หากไม่มีราวเกาะ)
♦ การหมุนเท้า ผู้ป่วยโน้มตัวไปด้านหน้าหมุนเท้าดีให้ด้านหลังอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะนั่งโถส้วม (มือด้านดียังคงจับราวเกาะข้างผนัง) จากนั้นนั่งบนโถส้วมจะได้ท่านั่งตามต้องการ
6.การเคลื่อนตัวจากโถส้วมไปรถเข็น ใช้เทคนิค
และหลักการเช่นเดียวกับการเคลื่อนตัวจากรถเข็นไปโถส้วม
♦ การจัดล้อรถเข็น
♦ การลุกขึ้นยืน ให้ผู้ป่วยใช้มือดีจับราวเกาะข้างผนังหรือจับที่วางแขนของล้อรถเข็นด้านขวาหากไม่มีราวเกาะ
♦ การหมุนตัว ผู้ป่วยลงน้ำหนักที่เท้าด้านดีและเปลี่ยนมือข้างดีจับที่วางแขนด้านซ้ายของรถเข็น หมุนตัวอย่างช้า ๆ โดยการเคลื่อนเท้าดีจนกระทั่งด้านหลังของผู้ป่วยอยู่ในท่าพร้อมที่จะนั่งจึงนั่งบนรถเข็นอย่างช้าๆ